แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ทราบว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทต่อกันไว้ก่อนแล้วการที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 จึงเป็นการทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 เสียเปรียบ ถือว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันทำการฉ้อฉลโจทก์ โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237
จำเลยที่ 1 ให้การรับว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำไว้กับโจทก์จริงจึงไม่ต้องนำสัญญาจะซื้อขายมาแสดงฉะนั้นแม้หนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำจะมิได้ปิดอากรแสตมป์ก็ฟังได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกันไว้จริง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2538 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 5192 เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 จำนวน 4 ไร่ 85 ตารางวาให้แก่โจทก์ ในราคา 1,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ได้รับเงินมัดจำในวันทำสัญญา15,000 บาท ส่วนที่เหลือ 985,000 บาท โจทก์ตกลงจะชำระให้ในวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินวันที่ 30 เมษายน 2539 ต่อมาวันที่ 1 พฤศจิกายน 2538 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันฉ้อฉลจดทะเบียนซื้อขายที่ดินดังกล่าวโดยรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 แก่โจทก์และรับเงินค่าที่ดินที่เหลือจำนวน 985,000 บาท จากโจทก์หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา หากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ขายที่ดินให้โจทก์ได้ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินมัดจำ 15,000 บาท และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 900,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ซึ่งจำเลยที่ 2 ทราบเรื่องดี แต่ได้ติดต่อขอซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1โดยแจ้งว่าหากมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นจำเลยที่ 2 จะเป็นผู้รับผิดชอบต่อโจทก์จำเลยที่ 1 หลงเชื่อจึงโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 แล้วแจ้งให้โจทก์ทราบภายหลัง จำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาไม่โอนที่ดินให้โจทก์จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ตกลงโอนขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2โดยจำเลยที่ 2 ชำระราคาที่ดินให้นางอัมพวัน เย็นใจ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่แท้จริงเนื่องจากจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าบิดาของจำเลยที่ 1 ได้โอนขายที่ดินให้บิดาของนางอัมพวันนานแล้วและนางอัมพวันเป็นผู้ครอบครองที่ดินกับเสียภาษีมาตลอด แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนนิติกรรมเปลี่ยนแปลงชื่อมาเป็นของนางอัมพวันเท่านั้นจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน การทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงเป็นการซื้อขายโดยถูกต้องตามกฎหมาย สุจริตเปิดเผย และเสียค่าตอบแทน ไม่ได้ร่วมกันฉ้อฉลโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่5192 ตำบลเจ็ดเสมียน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ซึ่งจดทะเบียนเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2538 ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าวเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 เนื้อที่ 4 ไร่ 85 ตารางวา ให้แก่โจทก์ พร้อมรับเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือจำนวน 985,000 บาท หากจำเลยที่ 1ไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2538 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 5192ตำบลเจ็ดเสมียน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 จำนวน 4 ไร่ 85 ตารางวา ให้แก่โจทก์ ในราคา 1,000,000 บาท วางมัดจำในวันทำสัญญา 15,000 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระในวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทวันที่ 30 เมษายน 2539 ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำเอกสารหมาย จ.4 ต่อมาวันที่ 1 พฤศจิกายน 2538 นางยุพา ยุวนากร ได้นำหนังสือมอบอำนาจของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย ล.6 ไปทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ตามหนังสือสัญญาขายที่ดินเฉพาะส่วนเอกสารหมาย จ.8 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่าการที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นการฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ เห็นว่าพยานโจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่า หลังจากที่โจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 1 แล้ว ต่อมาประมาณต้นเดือนตุลาคม 2538จำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 2 มาติดต่อซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1ดังนั้น เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2538 โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบว่าโจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ไว้แล้ว ตามหนังสือแจ้งเรื่องการซื้อที่ดินเอกสารหมาย จ.5 และใบรับฝากไปรษณีย์ด่วนพิเศษเอกสารหมาย จ.6และโจทก์มีนายธีระศักดิ์ สันธิวาส พนักงานของการสื่อสารแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นพยานคนกลางเบิกความสนับสนุนว่า การสื่อสารแห่งประเทศไทย สาขาบางนา ได้ส่งหนังสือของโจทก์ตามใบรับฝากไปรษณีย์ด่วนพิเศษเอกสารหมาย จ.6ไปให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้รับแล้วตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2538 ตามบัญชีควบคุมการนำจ่ายไปรษณีย์ทางด่วนเอกสารหมาย จ.7 ส่วนพยานจำเลยที่ 2 คงมีแต่นายไพรินทร์ จินดารักษาวงศ์ เบิกความกล่าวอ้างลอย ๆ ว่า จำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือเอกสารหมาย จ.4 ภายหลังจากที่ได้รับโอนที่ดินแล้วแต่นายไพรินทร์เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2538 ซึ่งเป็นวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 นั้น นายไพรินทร์ได้แนะนำให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เนื่องจากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา ซึ่งแสดงว่าในวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทนั้น จำเลยที่ 2 ทราบเรื่องจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทไว้กับโจทก์แล้ว อันเจือสมกับทางนำสืบของโจทก์พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น จำเลยที่ 2 ทราบดีว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทต่อกันไว้ก่อนแล้ว ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 จึงเป็นการทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 เสียเปรียบ ถือว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันทำการฉ้อฉลโจทก์ โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าหนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำเอกสารหมาย จ.4 ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์จึงไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้นั้น เห็นว่าจำเลยที่ 1 ให้การรับว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำเอกสารหมาย จ.4ไว้กับโจทก์จริงจึงไม่ต้องนำสัญญาจะซื้อขายมาแสดง ฉะนั้นแม้สัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำเอกสารหมาย จ.4 จะมิได้ปิดอากรแสตมป์คดีก็ฟังได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกันไว้จริงที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 2ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน