แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง การที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลบังคับเนื่องจากต้องการปรับปรุงระบบการทำงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการแข่งขันด้านธุรกิจมีความเจริญก้าวหน้าและกำไรมากขึ้น มิใช่ความจำเป็นที่มิอาจหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขเพื่อให้กิจการดำรงอยู่ต่อไปได้ ไม่เข้าข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 123 จึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม แม้โจทก์ได้จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ให้แก่จำเลยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและตามข้อบังคับการทำงานครบถ้วน ก็เป็นเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างในการเลิกจ้างกรณีปกติ มิใช่เป็นการจ่ายค่าเสียหายเนื่องจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมแก่จำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 328 ถึง 330/2542 ลงวันที่ 26พฤษภาคม 2542 และหากศาลเห็นว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ก็ขอให้ลดจำนวนค่าเสียหายลงด้วย
จำเลยทั้งสิบสามให้การทำนองเดียวกันขอให้ยกฟ้อง และจำเลยที่ 13ขอให้โจทก์ชดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินที่ได้รับตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ นับถัดจากวันที่มีคำสั่งเป็นต้นไป
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 13 เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานก่อนที่สหภาพแรงงานจะยื่นข้อเรียกร้อง และเมื่อข้อเรียกร้องสามารถตกลงกันได้ และทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้แล้ว ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างย่อมใช้บังคับแก่พนักงานของโจทก์ทุกคน จำเลยที่ 13 จึงเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องดังกล่าวด้วย สำหรับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 มุ่งมิให้นายจ้างกลั่นแกล้งลูกจ้าง แม้จะได้กำหนดเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้เพียง 5 ประการ แต่ก็มิได้หมายความว่า เมื่อนายจ้างมีเหตุจำเป็นนอกเหนือจากเหตุผลเลิกจ้างดังกล่าวแล้วนายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องไม่ได้ โดยไม่คำนึงถึงฐานะและสภาพทางเศรษฐกิจหรือความจำเป็นของนายจ้างประการอื่นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขได้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ต้องการพัฒนาระบบสารสนเทศโดยเตรียมการที่จะนำระบบคอมพิวเตอร์เอสเอพี มาใช้ปฏิบัติงานสารสนเทศแทนระบบเดิม โดยมีศูนย์อำนวยการด้านข้อมูลภาคเอเซียแปซิฟิกที่ประเทศมาเลเซีย ทำให้งานของฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศไม่มีความจำเป็นต้องทำในประเทศไทยต่อไป ศูนย์อำนวยการสารสนเทศที่ประเทศมาเลเซีย กำหนดให้โจทก์มีพนักงานเพียง 6 คนจากเดิม 13 คน โจทก์จึงเลิกจ้างพนักงานในฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศจำนวน 6 คน ที่เกินความจำเป็นซึ่งรวมถึงจำเลยที่ 13 ด้วย และโจทก์ไม่มีตำแหน่งอื่นที่เหมาะสมแก่ความรู้ความสามารถของจำเลยที่ 13 อีกทั้งโจทก์ได้จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชยพิเศษให้แก่จำเลยที่ 13 ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และตามข้อบังคับการทำงานครบถ้วนแล้ว การเลิกจ้างจำเลยที่ 13 จึงเป็นกรณีที่มีเหตุผลและเป็นการสมควร มิใช่เป็นการกลั่นแกล้งอันจะถือได้ว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 123 พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 328 ถึง 330/2542 ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2542
จำเลยทั้งสิบสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า แม้โจทก์จะไม่ได้กลั่นแกล้งจำเลยที่ 13 เพราะเมื่อโจทก์ปรับปรุงระบบการทำงานดังกล่าวแล้วจำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานที่ไม่จำเป็นลงบางส่วนรวมทั้งจำเลยที่ 13 ด้วย และไม่มีตำแหน่งอื่นที่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถของจำเลยที่ 13 โจทก์จึงจำเป็นต้องเลิกจ้างจำเลยที่ 13 ก็ตาม แต่ขณะที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 13 นั้น โจทก์ก็ยังดำเนินกิจการได้เป็นปกติ มิได้ประสบภาวะขาดทุนหรือประสบปัญหาอื่นใดจนไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้หากมิได้ทำการปรับปรุงระบบการทำงานจนต้องลดจำนวนพนักงานลงดังกล่าวแต่อย่างใด แต่กลับปรากฏว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 13 เนื่องจากต้องการปรับปรุงระบบการทำงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการแข่งขันด้านธุรกิจหรืออีกนัยหนึ่งคือเพื่อให้กิจการของโจทก์เจริญก้าวหน้ามากขึ้นและมีกำไรมากขึ้นนั่นเอง แม้ว่าโจทก์จำเป็นต้องเลิกจ้างจำเลยที่ 13 ก็ตาม แต่มิใช่ความจำเป็นที่มิอาจหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขได้เพื่อให้กิจการของโจทก์ดำรงอยู่ต่อไปได้ กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 ดังนั้นการที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 13 จึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 แม้โจทก์ได้จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยพิเศษให้แก่จำเลยที่ 13 ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและตามข้อบังคับการทำงานครบถ้วนแล้วก็ตามก็เป็นเงินต่าง ๆ ที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างในการเลิกจ้างกรณีปกติ มิใช่เป็นการจ่ายค่าเสียหายเนื่องจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมแก่จำเลยที่ 13 แต่อย่างใด ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 328 ถึง 330/2542 ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2542 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง.