คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1382/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยทราบนัดโดยชอบแล้ว ไม่มาศาลในวันสืบพยานและไม่แจ้งเหตุขัดข้องถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีโดยสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวแล้วพิพากษาคดีไปในวันเดียวกันนั้น จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมาย.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยและบริวารรื้อถอนบ้านออกจากไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การต่อสู้คดี แต่ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนบ้านออกไปจากที่พิพาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ปรากฎว่าในชั้นชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสามมีหน้าที่นำสืบพยานก่อน ครั้นถึงวันนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 27 ตุลาคม 2529 เวลา 13.30 นาฬิกา ฝ่ายโจทก์มาศาล แต่ฝ่ายจำเลยไม่มาและไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ศาลชั้นต้นรออยู่จนถึงเวลา 14.30 นาฬิกา โจทก์ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา แล้วพิจารณาคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียว ศาลชั้นต้นทำการสืบพยานโจทก์ 1 ปาก โจทก์อ้างส่งเอกสาร 1 ฉบับ แล้วแถลงว่าหมดพยาน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีเสร็จการพิจารณาและมีคำพิพากษาในวันเดียวกัน ปรากฎตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 27 ตุลาคม 2529
พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยขาดนัดพิจารณาให้สืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวและมีคำพิพากษาในวันเดียวกัน เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่มิชอบด้วยกฎหมายนั้น ได้ความตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 27ตุลาคม 2529 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานจำเลยว่า จำเลยทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาลและไม่แจ้งเหตุขัดข้อง กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 197 วรรคสองที่บัญญัติว่า ‘ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มาศาลในวันสืบพยาน และมิได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาลเสียก่อนสืบพยาน ให้ถือว่าคู่ความฝ่ายนั้นขาดนัดพิจารณา’ดังนั้นจำเลยทั้งสามจึงเป็นฝ่ายขาดนัดพิจารณาและในการพิจารณาโดยขาดนัด ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 202 บัญญัติว่า’ถ้าได้ส่งหมายกำหนดวันนัดสืบพยานให้จำเลยทราบโดยชอบแล้วจำเลยขาดนัดพิจารณา ให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาแล้วให้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียว…’ เมื่อจำเลยทั้งสามขาดนัดพิจารณา และศาลชั้นต้นพิจารณาคดีโดยสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว แล้วพิพากษาคดีไปในวันเดียวกันนั้น จึงเป็นการที่ศาลชั้นต้นได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ที่ว่าด้วยการพิจารณาโดยขาดนัดตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมาย…’
พิพากษายืน.

Share