คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1381/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของสามีโจทก์กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสามีจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นผู้มีส่วนได้เสียในหนี้สินที่สามีโจทก์ต่อจำเลยที่ 1ไปตามช่างกุญแจมาไขประตูบ้านที่โจทก์เช่าเพื่อยึดทรัพย์ของสามีโจทก์ โดยความรู้เห็นยินยอมของเจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 279 วรรคสองบัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจกระทำการตามสมควรเพื่อเปิดสถานที่หรือบ้านที่อยู่ของลูกหนี้หรือที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ปกครองอยู่ได้ ดังนี้แม้สามีโจทก์จะไม่ได้เป็นผู้เช่า แต่เมื่ออยู่ในบ้านที่เช่าด้วยก็เท่ากับปกครองบ้านหลังดังกล่าวร่วมกับโจทก์ด้วย จำเลยทั้งสองย่อมมีสิทธิยึดทรัพย์ของสามีโจทก์ในบ้านดังกล่าวได้ ไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก และการที่จำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานบังคับคดีให้เป็นผู้รักษาทรัพย์ที่ถูกยึดนำลูกกุญแจลูกใหม่มาใช่ประตูบ้าน หลังจากที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดทรัพย์ไว้แล้วทำให้โจทก์เข้าบ้านไม่ได้นั้นเมื่อปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้อยู่บ้านถึง 7 เดือนแล้ว การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำเพื่อป้องกันมิให้ทรัพย์ที่ถูกยึดสูญหาย จึงไม่เป็นการรบกวนการครอบครองของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการยึดทรัพย์ตามคดีแพ่งที่บ้านที่โจทก์เช่า ซึ่งปิดประตูใส่กุญแจไว้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการงัดกุญแจประตูและเข้าไปทำการยึดทรัพย์ภายในบ้านหลังนั้น หลังจากที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดทรัพย์ภายในบ้านเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันนำกุญแจใหม่ปิดประตูบ้านไว้ ทำให้โจทก์และสามีโจทก์ไม่สามารถเข้าไปในบ้านดังกล่าวเพื่อใช้ประโยชน์ได้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365(2), 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(2) ประกอบด้วยมาตรา 362, 83 ลงโทษปรับคนละ 2,000 บาท คำเบิกความของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับคนละ 1,500 บาท หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยทั้งสองพาเจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการยึดทรัพย์ที่บ้านหลังเกิดเหตุโดยมีการตามช่างกุญแจมาไขประตูที่ปิดประตูบ้านหลังเกิดเหตุเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีสามารถเข้าไปทำการยึดทรัพย์ภายในบ้านหลังเกิดเหตุได้นั้นเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของสามีโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการยึดทรัพย์ของลูกหนี้ที่อยู่ในบ้านหลังเกิดเหตุโดยความรู้เห็นของเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ถือว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียในหนี้สินที่สามีของโจทก์มีต่อจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1ให้สามารถยึดทรัพย์ของสามีโจทก์ได้ ทั้งการไขกุญแจประตูบ้านหลังเกิดเหตุก็กระทำโดยความรู้เห็นยินยอมของเจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งโดยนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 279 วรรคสองบัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจกระทำการตามสมควรเพื่อเปิดสถานที่หรือบ้านที่อยู่ของลูกหนี้หรือที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ปกครองอยู่ได้ แม้ตามสัญญาเช่าโจทก์จะเป็นผู้เช่าบ้านหลังเกิดเหตุจากพี่สาวของจำเลยที่ 2 ก็ตาม แต่เมื่อสามีของโจทก์อาศัยอยู่ในบ้านหลังเกิดเหตุด้วยก็เท่ากับสามีโจทก์ได้ร่วมปกครองบ้านหลังดังกล่าวร่วมกับโจทก์ จำเลยทั้งสองย่อมมีสิทธินำยึดทรัพย์ของสามีโจทก์ภายในบ้านหลังเกิดเหตุโดยการให้ช่างกุญแจไขกุญแจประตูบ้านหลังเกิดเหตุเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเข้าไปภายในบ้านหลังนั้นได้ กรณีดังกล่าวจำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานบุกรุกดังที่โจทก์ฟ้อง ส่วนกรณีที่จำเลยที่ 1 นำกุญแจลูกใหม่มาใส่ประตูบ้านหลังเกิดเหตุไว้ หลังจากเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดทรัพย์ของสามีโจทก์ไว้แล้วจนเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ในบ้านหลังเกิดเหตุได้นั้น จะเป็นการกระทำเพื่อรบกวนการครอบครองบ้านหลังเกิดเหตุของโจทก์โดยปกติสุขหรือไม่ เห็นว่า เมื่อกุญแจประตูบ้านหลังเกิดเหตุเดิมถูกช่างกุญแจไขออกแล้ว จำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานบังคับคดีให้เป็นผู้รักษาทรัพย์ของสามีโจทก์ที่ถูกยึดก็ชอบที่จะเอากุญแจลูกใหม่มาใส่ประตูบ้านหลังเกิดเหตุแทนกุญแจลูกเดิมเพื่อป้องกันมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าไปลักทรัพย์ที่ถูกยึดนั้นได้ เพราะโจทก์เองเบิกความตอบคำถามค้านของทนายความจำเลยทั้งสองว่าโจทก์เองไม่ได้อยู่บ้านหลังเกิดเหตุตั้งแต่เดือนมีนาคม 2533 ซึ่งนับถึงวันเกิดเหตุก็เป็นเวลาถึง7 เดือนแล้ว ลำพังการเอากุญแจลูกใหม่มาใส่ประตูบ้านหลังเกิดเหตุเพื่อป้องกันมิให้ทรัพย์ที่ถูกยึดสูญหายจึงไม่ใช่การรบกวนการครอบครองบ้านหลังเกิดเหตุของโจทก์ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานบุกรุก
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share