แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยยื่นคำร้องฉบับแรก ขอให้ศาลคำมีสั่งให้โจทก์วางเงินประกันค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่น ศาลมีคำสั่งโดยไม่ได้ไต่สวนว่า ตามคำร้องยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงให้เป็นที่เชื่อได้ว่าเมื่อโจทก์แพ้คดีแล้วจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าฤชาธรรมเนียม ให้ยกคำร้อง แม้ศาลจะมิได้ล่าวถึงกรณีโจทก์ไม่มีภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานอยู่ในราชอาณาจักร แต่คำสั่งดังกล่าวก็เป็นคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นที่จำเลยขอให้ศาลมีคำสั่ง จำเลยมิได้อุทธรณ์ กลับยื่นคำร้องฉบับหลังว่า ศาลสมควรจะมีคำสั่งให้รับคำร้องของจำเลยฉบับแรกไว้พิจารณาไต่สวนแล้วมีคำสั่ง ขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินประกันค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่น โดยอ้างข้อเท็จจริงและเหตุผลเหมือนกับคำร้องฉบับแรก เพียงแต่เพิ่มเติมว่ามีคดีอื่นที่โจทก์ฟ้องจำเลยและบัดนี้ศาลในคดีดังกล่าวเพิ่งมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินประกันค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายตามคำร้องของจำเลยไว้แล้ว ซึ่งแม้ส่วนที่อ้างเพิ่มเติมเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นใหม่ แต่ก็ยังเป็นเพียงข้อที่อ้างเพื่อสนับสนุนว่าหากโจทก์แพ้คดีแล้วจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่เสียไปอันควรที่จะสั่งให้โจทก์วางเงินเหมือนคำร้องฉบับแรก จึงมีข้ออ้างอันเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องวินิจฉัยชี้ชาดเช่นเดียวกับคำร้องฉบับแรก จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบมาตรา 26 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเอาชื่อของโจทก์ในส่วนสาระสำคัญและเป็นชื่อเฉพาะ คือ คำว่า “Tsuburaya” หรือ “ซึบูราญ่า” ไปใช้จดทะเบียนเป็นส่วนหนึ่งของชื่อของจำเลยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ ขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามจำเลยใช้ชื่อ ให้จำเลยจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อ และให้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 120,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าเสียหายอีกวันละ 100,000 บาท นับแต่วันฟ้อง
จำเลยให้การกับฟ้องแย้งว่า จำเลยมีสิทธิใช้ชื่อตามฟ้อง โจทก์ได้ใช้ชื่อทางการค้าว่า ซึบูราซ่า โปรดัคชั่นส์ กับงานซึ่งโจทก์ได้โอนสิทธิให้แก่กรรมการคนหนึ่งของบริษัทจำเลยไปแล้ว ทำให้จำเลยเสียหาย ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายรวม 120,000,000 บาท และค่าเสียหายอีกวันละ 100,000 บาท นับถัดจากวันยื่นคำให้การและฟ้องแย้ง
ก่อนสืบพยาน เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2548 จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางว่า โจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศไม่ได้อยู่ในอำนาจศาลไทย และเป็นที่เชื่อได้ว่าหากโจทก์แพ้คดีจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่จำเลยเสียไป เพราะก่อนหน้านี้โจทก์ได้ฟ้องจำเลยกับพวกว่าละเมิดลิขสิทธิ์เรียกค่าเสียหาย 100,000,000 บาท ตามคดีหมายเลขแดงที่ อ.459/2543 ของศาลดังกล่าว จำเลยในคดีนั้นยื่นคำร้องขอให้โจทก์วางเงินประกันค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย ศาลไต่สวนคำร้องและมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินต่อศาล 2,000,000 บาท ต่อมาศาลพิพากษาให้โจทก์แพ้คดี โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาและยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีตามฟ้องแย้งจำเลยในคดีนั้นยื่นคำร้องขอให้โจทก์วางเงินประกันค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในชั้นอุทธรณ์เพิ่มเติม ศาลฎีกามีคำสั่งให้โจทก์วางเงินประกันค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในชั้นอุทธรณ์เพิ่มเติม 1,800,000 บาท และให้โจทก์วางเงินหรือหาประกันสำหรับเงินที่ต้องชำระตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจำนวน 12,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนถึงวันฟังคำสั่งและต่อไปอีก 2 ปี วางเงินหรือหาประกันสำหรับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างอุทธรณ์เดือนละ 5,000,000 บาท รวม 24 เดือน มาให้เป็นที่พอใจของศาลภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่โจทก์ในคดีนั้นไม่ได้นำเงินหรือหลักประกันใด ๆ มาวางศาลภายในกำหนด จึงขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินประกันค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่า คดีพิพาทกันในเรื่องชื่อทางการค้า “ซึบูราญ่า” คนละส่วนกับการพิพาทเรื่องลิขสิทธิ์ตามคดีหมายเลขแดงที่ อ.459/2543 ซึ่งคดีดังกล่าวประเด็นเรื่องการวางเงินประกันค่าฤชาธรรมเนียมเกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้ว ในคดีนี้ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงให้เป็นที่เชื่อได้ว่าเมื่อโจทก์แพ้คดีแล้วจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าฤชาธรรมเนียม ให้ยกคำร้องของจำเลย ค่าคำร้องให้เป็นพับ จำเลยทราบคำสั่งเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2548
ต่อมาวันที่ 20 เมษายน 2548 จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอีก โดยระบุข้ออ้างตามคำร้องลงวันที่ 27 มกราคม 2548 และอ้างเพิ่มเติมว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 253 บัญญัติว่า ถ้าโจทก์มิได้มีภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานอยู่ในราชอาณาจักรและไม่มีทรัพย์สินที่อาจถูกบังคับคดีได้อยู่ในราชอาณาจักร หรือถ้าเป็นที่เชื่อได้ว่าเมื่อโจทก์แพ้คดีแล้วจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย จำเลยยื่นคำร้องต่อศาล…หมายความว่า หากปรากฏว่าข้อเท็จจริงว่าโจทก์มีพฤติการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดข้างต้นก็ถือว่าครบองค์ประกอบตามบทบัญญัติดังกล่าว ตามคำร้องของจำเลยลงวันที่ 27 มกราคม 2548 ได้อ้างข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์มิได้มีภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานอยู่ในราชอาณาจักร และไม่มีทรัพย์สินที่อาจถูกบังคับคดีได้อยู่ในราชอาณาจักร และปรากฏข้อเท็จจริงที่เชื่อได้ว่าเมื่อโจทก์แพ้คดีแล้วจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในคดี ศาลจึงชอบที่จะมีคำสั่งให้รับคำร้องฉบับลงวันที่ 27 มกราคม 2548 ไว้พิจารณาไต่สวน นอกจากคดีนี้โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยกับพวกต่อศาลดังกล่าวตามคดีหมายเลขดำที่ ทป.149/2547 เรียกร้องค่าเสียหายจำนวน 1,270,000,000 บาท จำเลยกับพวกในคดีนั้นยื่นคำร้องขอให้โจทก์วางเงินประกันค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย ศาลไต่สวนคำร้องแล้วเห็นว่าโจทก์มิได้มีภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานอยู่ในราชอาณาจักรและไม่มีทรัพย์สินที่อาจบังคับคดีได้อยู่ในราชอาณาจักร กรณีเข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 253 จึงมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินต่อศาลหรือหาประกันเพื่อชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายจำนวน 2,000,000 บาท ซึ่งถือเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาสั่งคำร้องของจำเลยในคดีนี้ได้ ขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวนและมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินประกันค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในคดี
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่าตามคำร้องไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมที่ทำให้เห็นว่าเมื่อโจทก์แพ้คดีแล้วจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าฤชาธรรมเนียม คำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ ทป.149/2547 ไม่ผูกพันให้ศาลในคดีนี้ต้องปฏิบัติตาม กรณีไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่มีคำสั่งเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2548 ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “เห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่า คำร้องของจำเลยฉบับลงวันที่ 20 เมษายน 2548 เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือไม่ เห็นว่า จำเลยยื่นคำร้องฉบับแรกลงวันที่ 27 มกราคม 2548 ขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนและมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินประกันค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่น ศาลมีคำสั่งโดยไม่ได้ไต่สวนว่า ตามคำร้องยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงให้เป็นที่เชื่อได้ว่าเมื่อโจทก์แพ้คดีแล้วจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าฤชาธรรมเนียม ให้ยกคำร้องของจำเลย แม้ศาลจะมิได้กล่าวถึงกรณีโจทก์ไม่มีภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานอยู่ในราชอาณาจักร แต่คำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางดังกล่าวก็เป็นคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นที่จำเลยขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินประกันค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นแล้วไม่ชอบอย่างไร จำเลยชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งนี้ของศาลภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่จำเลยมิได้อุทธรณ์กลับมายื่นคำร้องฉบับหลังลงวันที่ 20 เมษายน 2548 ว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสมควรจะมีคำสั่งให้รับคำร้องของจำเลยฉบับแรกลงวันที่ 27 มกราคม 2548 ไว้พิจารณาไต่สวนแล้วมีคำสั่ง ขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินประกันค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่น โดยอ้างข้อเท็จจริงและเหตุผลเหมือนกับคำร้องฉบับแรก เพียงแต่เพิ่มเติมว่ามีคดีอื่นที่โจทก์ฟ้องจำเลยและบัดนี้ศาลในคดีดังกล่าวเพิ่งมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินประกันค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายตามคำร้องขอของจำเลยไว้แล้ว ซึ่งแม้ส่วนที่อ้างเพิ่มเติมเข้ามานี้เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นใหม่ แต่ก็ยังเป็นเพียงข้อที่จำเลยอ้างเพื่อสนับสนุนว่าหากโจทก์แพ้คดีนี้แล้วจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่จำเลยเสียไปอันควรที่จะสั่งให้โจทก์วางเงินเหมือนคำร้องฉบับแรก คำร้องฉบับหลังจึงมีข้ออ้างอันเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องวินิจฉัยชี้ขาดเช่นเดียวกับคำร้องฉบับแรกที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งยกคำร้องไปแล้ว คำร้องของจำเลยลงวันที่ 20 เมษายน 2548 จึงเป็นการขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบมาตรา 26 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ปัญหาเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบมาตรา 26 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยกคำร้องของจำเลยฉบับลงวันที่ 20 เมษายน 2548 นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.