คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1376/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ได้รับอนุญาตให้ค้าอาวุธปืน รับซื้อปืนจากเจ้าของผู้ได้รับอนุญาตให้มีไว้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เมื่อชำระเงินกันเสร็จแล้วก็รับปืนที่ซื้อนั้นไว้ในร้านแล้วดำเนินการทำคำร้องขออนุญาตโอนต่อนายทะเบียนแต่ถูกเจ้าพนักงานจับปืนรายนี้เสียก่อน ต่อมาจึงได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมตำรวจให้โอนได้ ดังนี้ ย่อมถือว่า ผู้รับซื้อ “มี” ปืนไว้ในความครอบครอง โดยมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ก่อน มีความผิดตามพ.ร.บ.อาวุธปืนฯ 2490 มาตรา 7,72 และมีผิดฐานมีปืนไว้นอกบัญชีตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงตามมาตรา 28,81 ด้วย

ย่อยาว

คดีได้ความว่า จำเลยเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ค้าอาวุธปืนปืนของกลางเป็นของนายสวัสดิ์และนายชั้นคนละกระบอก ซึ่งเจ้าของได้รับอนุญาตให้มีไว้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยซื้อไว้จากเจ้าของเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2492 ได้ชำระเงินกันเสร็จแล้วรุ่งขึ้นวันที่ 14 จำเลยได้ทำคำร้องขออนุญาตรับโอนต่อนายทะเบียนเจ้าหน้าที่เสนอคำร้องของจำเลยไปตามลำดับ แต่เจ้าพนักงานจับปืนรายนี้เสียเมื่อวันที่ 18 เดือน มีนาคมนั้นเอง ถึงวันที่ 25 เดือนเดียวกันนั้นจำเลยก็ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมตำรวจให้โอนได้ โจทก์จึงมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีอาวุธปืนไว้โดยไม่ได้รับอนุญาตและเอาปืนมาไว้ในร้านค้าของจำเลย โดยไม่มีบัญชีให้ตรงกับจำนวนอาวุธปืน ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯลฯ

ศาลชั้นต้นเห็นว่า ตามพฤติการณ์ดังกล่าวจำเลยยังไม่ควรมีความผิด พิพากษายกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 28, 72, 81 ให้รวมกระทงปรับ 10 บาท ปืนของกลางคืนจำเลย

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยได้รับเอาปืนของกลางไว้ในร้านของจำเลย ก็ต้องถือว่า จำเลย “มี” ปืนของกลางไว้ในครอบครองตามคำวิเคราะห์ศัพท์ มาตรา 4(6) แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ 2490 และไม่ใช่เป็นเรื่องที่ปืนของกลางตกอยู่ในความครอบครองของจำเลย ๆ มีความจำเป็นต้องรักษาไว้มิให้สูญหายเลย ฉะนั้น เมื่อจำเลยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ก่อน จำเลยก็ต้องมีความผิดตามมาตรา 7 ซึ่งจะต้องถูกลงโทษตามมาตรา 72 และเมื่อจำเลยเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ค้าอาวุธปืน จำเลยมีปืนของกลางไว้นอกบัญชีตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ก็ต้องเป็นความผิดตามมาตรา 28 ซึ่งจะต้องถูกลงโทษตามมาตรา 81

จึงพิพากษายืน

Share