คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13756/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองนั้น ต้องเป็นข้อกฎหมายที่ได้มาจากข้อเท็จจริงในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ เมื่อจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและไม่ได้สืบพยาน การที่ศาลหยิบยกเอาประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตสำหรับผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต มาวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ได้มีหนังสือเตือนจำเลยล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 20 วัน ก่อนดำเนินการบังคับชำระหนี้ตามกฎหมาย จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงเมื่อไม่ปรากฏในสำนวนคดี ศาลไม่อาจรับฟังมาวินิจฉัยข้อกฎหมายได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 332,439.07 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 121,308.35 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 126,805.76 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 มีนาคม 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้นำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2540 จำนวน 10,091.89 บาท วันที่ 28 มิถุนายน 2545 จำนวน 1,000 บาท วันที่ 31 กรกฎาคม 2545 จำนวน 1,000 บาท และวันที่ 12 กันยายน 2545 จำนวน 1,000 บาท หักออกจากเงินจำนวนดังกล่าว ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 2,000 บาท สำหรับค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์อนุมัติออกบัตรเครดิตวีซ่าทองให้แก่จำเลยวงเงิน 100,000 บาท จำเลยได้ใช้สิทธิและประโยชน์ของบัตรเครดิตแทนเงินสดในการซื้อสินค้าและเบิกถอนเงินล่วงหน้าจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติเรื่อยมา ต่อมาจำเลยผิดเงื่อนไขการใช้บัตรเครดิต โดยใช้วงเงินเกินกำหนดและชำระหนี้แก่โจทก์เพียงบางส่วนไม่ครบถ้วนตามใบแจ้งยอดค่าใช้จ่าย อันเป็นการผิดสัญญา มียอดหนี้ค้างชำระถึงวันที่ 25 มกราคม 2546 เป็นค่าซื้อสินค้าและค่าบริการ 85,273.64 บาท เบิกถอนเงินสด 36,034.71 บาท รวมเป็นเงิน 121,308.35 บาท และดอกเบี้ย 134,507.05 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 255,815.40 บาท โดยจำเลยต้องชำระหนี้จำนวนดังกล่าวให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2546 ตามใบแจ้งยอดใช้จ่ายบัตรเครดิต จำเลยใช้บัตรเครดิตครั้งสุดท้ายวันที่ 27 มกราคม 2540 โจทก์คิดยอดเงินถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยมียอดหนี้ค้างชำระรวมเป็นเงิน 126,805.76 บาท โจทก์มีใบแจ้งยอดใช้จ่ายบัตรเครดิตให้จำเลยชำระหนี้จำนวนดังกล่าวภายในวันที่ 12 มีนาคม 2540 แต่เมื่อถึงกำหนดจำเลยไม่ชำระ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การวินิจฉัยข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองนั้น ต้องเป็นข้อกฎหมายที่ได้มาจากข้อเท็จจริงในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ คดีนี้จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและไม่ได้สืบพยาน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 หยิบยกเอาประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ประกาศ ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2545 และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตสำหรับผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตมาวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้มีหนังสือเตือนจำเลยล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 20 วัน ก่อนดำเนินการบังคับชำระหนี้ตามกฎหมาย จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เนื่องจากประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงเมื่อไม่ปรากฏในสำนวนคดี ศาลไม่อาจรับฟังมาวินิจฉัยข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 126,805.76 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 มีนาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยนำเงินที่จำเลยชำระให้โจทก์ไปเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2540 จำนวน 10,091.89 บาท วันที่ 28 มิถุนายน 2545 จำนวน 1,000 บาท วันที่ 31 กรกฎาคม 2545 จำนวน 1,000 บาท และวันที่ 12 กันยายน 2545 จำนวน 1,000 บาท หักออกจากเงินจำนวนดังกล่าว ให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 2,000 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share