คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1373/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

“หมอความ”ตามมาตรา 165(15)นั้น ย่อมหมายถึงบุคคลผู้ถือเป็นอาชีพ หรือแสดงออกว่าเป็นผู้มีความรู้เพื่อรับจ้างในการใช้วิชากฎหมายโดยทั่วๆ ไปที่ปรึกษากฎหมายจึงเป็นหมอความตามความหมายของมาตรา 165(15) ด้วย

ย่อยาว

คดีนี้ บริษัทวีระจำกัดเป็นโจทก์ฟ้องว่า บริษัทศรีราชาจำเลยได้แต่งตั้งให้โจทก์เป็นที่ปรึกษากฎหมายตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2485 ตกลงให้ค่าป่วยการเดือนละ 100 บาท ปีหนึ่งจ่ายครั้งหนึ่งโจทก์ยังมิได้รับค่าป่วยการจากจำเลยจนถึงวันที่ 2 พฤษภาคม 2491 ขอให้จำเลยใช้เงิน 6,300 บาท และดอกเบี้ย

จำเลยปฏิเสธว่า ไม่พบหลักฐานว่าได้ว่าจ้างโจทก์และตัดฟ้องว่าคดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(15)

ศาลแพ่งพิพากษาว่า ให้จำเลยใช้เงิน 6,300 บาท กับดอกเบี้ยให้โจทก์ตามฟ้อง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามมาตรา 165(15) มิได้มุ่งหมายประสงค์จะจำกัดอายุความสองปี แต่เฉพาะค่าธรรมเนียมของบุคคลที่มีอาชีพในทางรับว่าต่างแก้ต่างในคดีในโรงศาลเท่านั้น จึงได้มีถ้อยคำกล่าวถึงหมอความไว้ด้วย คำว่าหมอความนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าย่อมหมายถึงบุคคลผู้ถืออาชีพ หรือแสดงออกว่า เป็นผู้มีความรู้เพื่อรับจ้างในการใช้วิชากฎหมายโดยทั่ว ๆ ไป

ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ว่าที่ปรึกษากฎหมายไม่ใช่หมอความ ตามความในอนุมาตรา 15 นั้น เห็นว่า ต้องดูถึงกิจการที่ทำประกอบกับความประสงค์ของกฎหมายที่บัญญัติไว้สำหรับบังคับเป็นสำคัญ สิทธิเรียกร้องของโจทก์ ก่อนวันที่ 13 พฤษภาคม 2489 ได้ขาดอายุความเสียแล้ว คงเรียกร้องได้ตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2489 ถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2490 เป็นจำนวนเงิน 1,350 บาท

จึงพิพากษาแก้ศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยใช้เงิน 1,350 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ย

Share