แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมทแอมเฟตามีนของกลางที่ตรวจค้นพบจากตัวจำเลย แม้จะมีจำนวนถึง600 เม็ด แต่เมื่อคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนักเพียง 11.3 กรัม ไม่อาจถือได้ว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโจทก์ย่อมมีหน้าที่นำสืบ เมื่อโจทก์นำสืบเพียงว่าร้อยตำรวจตรีอ. รับแจ้งจากสายลับว่าคนร้ายจะนำเมทแอมเฟตามีนไปส่งให้ลูกค้า แต่ไม่ปรากฏชัดว่าสายลับเป็นใคร อีกทั้งโจทก์ก็ไม่ได้นำสายลับมาเบิกความและไม่มีพยานหลักฐานอื่นแสดงให้เห็นว่าจำเลยจะนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปจำหน่าย จึงฟังลงโทษจำเลยได้เพียงฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 6, 7, 8, 15, 66, 67, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,32, 33 ริบเมทแอมเฟตามีนและรถยนต์ของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง, 102 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 10 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนและรถยนต์ของกลาง
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 67 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้จำคุกคนละ 7 ปี ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ยกคำขอที่ให้ริบรถยนต์ของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองกาฬสินธุ์จังหวัดกาฬสินธุ์ จับกุมจำเลยทั้งสามได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนจำนวน 600 เม็ดรถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน 1 ท-4484 ขอนแก่น เป็นของกลางโดยแจ้งข้อหาว่าร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจตรีอดิศร ทัศนพงษ์ และพลตำรวจจรัญ นาใต้ ผู้ร่วมจับกุมจำเลยทั้งสามเป็นประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยันมั่นคงตรงกันในสาระสำคัญว่า จากการสืบสวนทราบจากสายลับแจ้งให้ทราบว่า จะมีผู้ค้ายาเสพติดนำเมทแอมเฟตามีนไปส่งให้แก่ลูกค้าที่บ้านห้วยแสง ตำบลภูปอ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ร้อยตำรวจตรีอดิศรจึงรายงานให้ผู้กำกับการตำรวจภูธรอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ทราบและได้รับคำสั่งให้นำกำลังเจ้าพนักงานตำรวจไปสกัดจับ ร้อยตำรวจตรีอดิศรกับพวกออกเดินทางไปและวางแผนเพื่อจับกุม ขณะที่แอบซุ่มอยู่บริเวณปากทางเข้าหมู่บ้านโคกคำม่วงจนถึงเวลาประมาณ 20 นาฬิกา มีรถยนต์กระบะซึ่งตรงกับที่สายลับแจ้งแล่นมาจากอำเภอสมเด็จเลี้ยวขวาเข้าบ้านโคกคำม่วง พลตำรวจจรัญได้วิทยุรายงานให้ร้อยตำรวจตรีอดิศรกับพวกทราบและขับรถจักรยานยนต์ติดตามมาร้อยตำรวจตรีอดิศรกับพวกให้สัญญาณไฟฉายเรียกให้หยุด เมื่อรถหยุดจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคนขับรถกระบะคันดังกล่าวเปิดประตูลงจากรถทำท่าจะวิ่งหนีแต่ถูกเจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปควบคุมตัวไว้ได้ ส่วนจำเลยที่ 2 นั่งอยู่ด้านหน้าคู่กับจำเลยที่ 1 เปิดประตูรถแล้ววิ่งหนีตกลงไปในคลองข้างถนน เจ้าพนักงานตำรวจตามจับจำเลยที่ 2 ไว้ได้ จำเลยที่ 3 นั่งอยู่ด้านหลังลงจากรถทำท่าจะวิ่งหนีก็ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับได้เช่นเดียวกัน ร้อยตำรวจตรีอดิศรกับพวกแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจทำการตรวจค้น พลตำรวจจรัญตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 600 เม็ด อยู่ในกระเป๋ากางเกงด้านขวาที่จำเลยที่ 1 สวมใส่อยู่ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย ชั้นจับกุมแจ้งข้อหาว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเห็นว่า พยานโจทก์เป็นเจ้าพนักงานตำรวจได้ปฏิบัติราชการไปตามหน้าที่ไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 1 และที่ 3 มาก่อน และไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะแกล้งทำพยานหลักฐานเท็จและเบิกความปรักปรำกลั่นแกล้งจำเลยที่ 1 และที่ 3 พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาจึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ ขณะทำบันทึกการจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การปฏิเสธและไม่ยอมลงชื่อผู้ทำบันทึกการจับกุมก็มิได้บังคับขู่เข็ญแต่ประการใดเพียงแต่บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับพฤติการณ์แห่งคดีที่เกิดขึ้นไว้ ทำให้เชื่อว่าผู้ทำบันทึกลงรายละเอียดไว้ตามความเป็นจริงซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของประจักษ์พยานโจทก์ผู้ร่วมจับกุมการที่จำเลยที่ 3 นั่งรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุไปกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีและผู้ขับรถยนต์ขณะเดินทางและถูกเจ้าพนักงานตำรวจสกัดจับได้พร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนของกลางจากตัวจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 3 จะไม่มีเมทแอมเฟตามีนอยู่ที่ตัว แต่ตามพฤติการณ์แห่งคดีจำเลยที่ 3 เป็นภริยาจำเลยที่ 1 ร่วมเดินทางมาในรถยนต์กระบะคันเดียวกันกับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ต้น พฤติการณ์ชี้ชัดว่าร่วมรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ของกลางที่ตรวจค้นพบจากตัวจำเลยที่ 1 จะมีจำนวนถึง 600 เม็ด แต่เมื่อคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ก็หนักเพียง 11.3 กรัม ไม่อาจจะถือได้ว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โจทก์ย่อมมีหน้าที่นำสืบ ดังนั้นเมื่อโจทก์นำสืบเพียงว่า ร้อยตำรวจตรีอดิศรรับแจ้งจากสายลับว่า คนร้ายจะนำเมทแอมเฟตามีนไปส่งให้ลูกค้า แต่ก็ไม่ปรากฏชัดว่าสายลับเป็นใคร อีกทั้งโจทก์ก็ไม่ได้นำสายลับมาเบิกความ และไม่มีพยานหลักฐานอื่นนำสืบเพื่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 จะนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปจำหน่ายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองมิได้มีไว้เพื่อจำหน่าย จึงชอบแล้ว ส่วนจำเลยที่ 2 แม้จะนั่งรถยนต์มาด้วยกับจำเลยที่ 1 เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจเรียกให้หยุดรถ จำเลยที่ 2 ซึ่งนั่งคู่กับจำเลยที่ 1 ตอนหน้ารถได้วิ่งหลบหนีนั้น ก็ได้ความว่าขณะที่ร้อยตำรวจตรีอดิศรกับพวกสกัดจับจำเลยทั้งสามเป็นเวลาประมาณ 20 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจที่ร่วมกันมาสกัดจับมีหลายคนซึ่งบางคนแต่งกายนอกเครื่องแบบและมีอาวุธปืนด้วย อีกทั้งยังใช้วิธีการสกัดจับโดยขับรถยนต์ส่วนตัวไม่มีเครื่องหมายแสดงว่าเป็นรถยนต์ของเจ้าพนักงานตำรวจแล่นออกมาขวางถนนไว้ จึงมีเหตุที่ทำให้จำเลยที่ 2 ตกใจกลัวและวิ่งหลบหนีได้ เมื่อการตรวจค้นตัวจำเลยที่ 2 ไม่พบสิ่งของผิดกฎหมาย และจำเลยที่ 2 ก็ให้การปฏิเสธมาโดยตลอดว่าไม่ได้กระทำความผิด เหตุที่จำเลยที่ 2 มาด้วยกับจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคนรู้จักกันชักชวนมาด้วยจะอนุมาณว่าร่วมกับจำเลยที่ 1 หาได้ไม่พยานหลักฐานโจทก์จึงมีเหตุสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 และใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1และที่ 3 คนละ 7 ปี นั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน