คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 137/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์เข้าทำงานต่อไป หรือมิฉะนั้นให้จ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหาย ข้ออ้างประการแรกที่ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยฝ่าฝืนระเบียบเป็นการกล่าวหาว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นธรรมตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 49 ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติให้โจทก์ต้องร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการอย่างใดก่อนที่จะดำเนินการในศาลแรงงาน จึงฟ้องต่อศาลแรงงานกลางได้โดยไม่ต้องร้องเรียนหรือปฏิบัติการอย่างใดก่อน ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 8 วรรคท้าย
ส่วนข้ออ้างประการที่สองว่า จำเลยกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายโดยกกล่าวอ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งโจทก์เกี่ยวข้องด้วยมีผลใช้บังคับ เป็นการกล่าวหาว่าจำเลยกระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ มาตรา 123 ซึ่งมาตรา 124 บัญญัติไว้ให้ผู้ต้องหาต้องยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ หากประสงค์จะเรียกร้องสิ่งใด ต้องยื่นภายใน 60 วันนับแต่วันที่มีการฝ่าฝืน เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลแรงงานกลางขอให้รับโจทก์เข้าทำงานต่อไปหรือจ่ายค่าชดเชยหรือค่าเสียหายโดยมิได้ร้องเรียนตามมาตรา 124 ก่อน จึงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 8 วรรคท้าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยและเป็นสมาชิกสหภาพแรงานด้วย จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยกล่าวหาว่าโจทก์กระทำด้วยความประมาทเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหาย โดยมิได้สอบสวนความผิดของโจทก์เสียก่อนตามระเบียบ และเป็นการเลิกจ้างในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งโจทก์เกี่ยวข้องด้วยมีผลใช้บังคับ อันจำเลยต้องห้ามมิให้เลิกจ้างโจทก์ การเลิกจ้างนี้จำเลยมิได้จ่ายค่าชดเชยและทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขาดรายได้ ขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานต่อไปตามตำแหน่งและค่าจ้างที่ได้รับในขณะเลิกจ้างหรือไม่ต่ำกว่านั้นโดยถือเสมือนว่าโจทก์มิได้ถูกเลิกจ้างมิฉะนั้นให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๑ แต่โจทก์มิได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เสียก่อนตามมาตรา ๑๒๔ จึงต้องห้ามมิให้ดำเนินการ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคท้าย สั่งไม่รับฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีฟังได้ว่าโจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ชอบ ขอให้ศาลบังคับจำเลยรับโจทก์เข้าทำงานต่อไป หรือมิฉะนั้นให้จ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายให้โจทก์ ทั้งนี้โจทก์มิได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เสียก่อนฟ้องคดี มีปัญหาข้อแรกว่า ที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ชอบนั้นเป็นเพราะเหตุใด และวินิจฉัยว่าโจทก์กล่าวในฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้สอบสวนก่อนตามระเบียบ และเลิกจ้างในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งโจทก์เกี่ยวข้องด้วยมีผลใช้บังคับ เห็นว่าฟ้องโจทก์เป็นการกล่าวหาว่าจำเลยกระทำไม่ชอบในการเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุ ๒ ประการคือ ฝ่าฝืนระเบียบ และฝ่าฝืนกฎหมาย
ในกรณีที่กล่าวหาว่าจำเลยเลิกจ้างโดยฝ่าฝืนระเบียบนั้น เป็นการกล่าวหาว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นธรรมตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติให้โจทก์ต้องร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏบัติตามขั้นตอนและวิธีการอย่างใดก่อนที่จะดำเนินการในศาลแรงงาน ดังนั้น โจทก์ฟ้องจำเลยในกรณีดังกล่าวต่อศาลแรงงานกลางได้โดยไม่ต้องร้องเรียนหรือปฏิบัติการอย่างใดก่อน ไม่เป็นการต้องห้ามตามมาตรา ๘ วรรคท้าย
ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายนั้น โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งโจทก์เกี่ยวข้องด้วยมีผลใช้บังคับ มิใช่กล่าวอ้างว่างเลิกจ้างเพราะเหตุที่โจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานซึ่งเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยกระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๓ มิใช่ฝ่าฝืนมาตรา ๑๒๑ ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนมาตรา ๑๒๑ มาตรา ๑๒๒ หรือมาตรา ๑๒๓ นั้น มาตรา ๑๒๔ บัญญัติว่า “ผู้เสียหายเนื่องจากการฝ่าฝืนอาจยื่นคำร้องกล่าวหาผู้ฝ่าฝืนต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้ภายใน ๖๐ วันนับแต่วันที่มีการฝ่าฝืน” บทบัญญัติดังกล่าวมิได้บังคับให้ผู้เสียหายต้องยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ หากผู้เสียหายไม่ประสงค์จะเรียกร้องสิ่งใด แต่ถ้าผู้เสียหายประสงค์จะเรียกร้อง ผู้เสียหายจะต้องกระทำโดยการยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ภายใน ๖๐ วันนับแต่วันที่มีการฝ่าฝืน อันแสดงให้เห็นว่ามีการบังคับให้ผู้เสียหายต้องกระทำเมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยกล่าวหาว่าฝ่าฝืนมาตรา ๑๒๓ ขอให้รับโจทก์เข้าทำงานต่อไปหรือจ่ายค่าชดเชยและชดใช้ค่าเสียหายโดยมิได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เสียก่อนตามมาตรา ๑๒๔ โจทก์จึงดำเนินการในศาลแรงงานกลางโดยฟ้องจำเลยในกรณีนี้ไม่ได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคท้าย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รับฟ้องโจทก์เฉพาะข้อที่กล่าวหาว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้สอบสวนเสียก่อนตามระเบียบ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลแรงงานกลาง

Share