แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยจะมีความผิดฐานบุกรุกตามฟ้องได้ต้องปรากฏด้วยว่า จำเลยมีเจตนาที่จะเข้าไปในที่ดินพิพาทเพื่อแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากผู้ร้องทั้งๆ ที่จำเลยทราบดีอยู่แล้วว่า ผู้ร้องมีสิทธิดีกว่าตน แต่เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์ของจำเลยที่ได้โต้แย้งสิทธิของนายสมนึกและผู้ร้องในที่ดินพิพาทโดยกล่าวอ้างถึงสิทธิของตนในที่ดินพิพาทและท้าทายให้ไปฟ้องศาลตลอดมา ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ได้ความว่าผู้ร้องกับจำเลยเป็นญาติกัน ทั้งจำเลยยังเป็นทายาทคนหนึ่งของ จ. ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทมาตั้งแต่เดิมด้วยแล้ว เห็นว่า จำเลยอาจเข้าใจโดยสุจริตว่าช่วงเวลาเกิดเหตุยังอยู่ในช่วงที่โต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกันอยู่และจำเลยมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าผู้ร้องก็เป็นได้ พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีข้อน่าสงสัยตามสมควรว่า จำเลยมีเจตนาบุกรุกที่ดินพิพาทหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานบุกรุกตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
อย่างไรก็ตามแม้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดอาญาเพราะขาดเจตนา แต่การกระทำของจำเลยเป็นการเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทโดยไม่มีสิทธิที่จะกระทำได้ จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ร้อง แม้ในคดีส่วนอาญาจำเลยจะไม่มีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง แต่ในคดีส่วนแพ่งก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคแรก ดังนั้นเมื่อผู้ร้องไม่ประสงค์ให้จำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกต่อไป จำเลยจึงต้องออกไปจากที่ดินพิพาทและชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362
ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 193,600 บาท กับค่าเสียหายอีกเดือนละ 12,000 บาท นับถัดจากวันยื่นคำร้องไปจนกว่าจำเลยจะออกไปจากที่ดิน และขับไล่จำเลยและบริวารให้ออกไปจากที่ดินพิพาท
จำเลยให้การปฏิเสธ และให้การในคดีส่วนแพ่งว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ผู้เสียหายไม่ได้รับความเสียหายไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 จำคุก 2 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 40 วัน เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ร้องเดือนละ 3,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะออกไปจากที่ดินพิพาท กับให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง และให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหาย
โจทก์และผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และผู้ร้องว่า จำเลยกระทำความผิดฐานบุกรุกตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีผู้ร้องมาเบิกความยืนยันสอดคล้องกับหนังสือสัญญาขายที่ดิน ว่าผู้ร้องซื้อที่ดินพิพาทจากนางเปื้อม ผู้จัดการมรดกของนายสมนึกซึ่งรับการยกให้ที่ดินพิพาทมาจากนายจาง เจ้าของที่ดินพิพาทเดิม ซึ่งจำเลยไม่ได้นำสืบโต้แย้งเป็นอย่างอื่น ทั้งนางเปื้อมพยานจำเลยยังเบิกความเจือสมข้อนำสืบของโจทก์ดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ส่วนที่จำเลยนำสืบต่อสู้ว่า จำเลยมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าผู้ร้องเพราะจำเลยทำกินในที่ดินพิพาทมาตั้งแต่เกิด ส่วนผู้ร้องซื้อที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ที่ดินพิพาทมีเอกสารสิทธิเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยยังไม่เคยเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเลยนั้น จำเลยไม่มีพยานหลักฐานใดมาแสดงว่าจำเลยได้สิทธิในที่ดินพิพาทอย่างไร แม้จำเลยมีนางเปื้อมมาเบิกความสนับสนุนในเรื่องนี้ว่า จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทโดยปลูกยางพาราและปลูกบ้านพักอาศัยในที่ดินพิพาทจนถึงปัจจุบัน แต่คำเบิกความของจำเลยและนางเปื้อมขัดแย้งกับสภาพที่ดินพิพาทตามพยานเอกสารที่พันตำรวจโทสันติซึ่งเป็นพยานคนกลางจัดทำไว้โดยแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ ระบุว่า จุดหมายเลข 1 คือที่ดินพิพาท จุดหมายเลข 2 คือบ้านพักของจำเลย แสดงว่าบ้านของจำเลยไม่ได้อยู่ในที่ดินพิพาท และบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุคดีอาญาบันทึกไว้ว่า สภาพทั่วไปของที่ดินพิพาทเป็นพื้นที่ดิน ซึ่งอยู่หลังบ้านของจำเลย มีสภาพเป็นป่า ส่อแสดงให้เห็นว่าก่อนเกิดเหตุคดีนี้ไม่มีใครทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาก่อน ข้อนำสืบของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักพอหักล้างพยานหลักฐานของผู้ร้องได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้ร้องมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลย การที่จำเลยเข้าไปแผ้วถางป่าในที่ดินพาทในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้องจึงเป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยไม่มีสิทธิที่จะกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย อย่างไรก็ตาม การที่จำเลยจะมีความผิดฐานบุกรุกตามฟ้องได้จะต้องปรากฏด้วยว่าจำเลยมีเจตนาที่จะเข้าไปในที่ดินพิพาทเพื่อแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากผู้ร้องทั้ง ๆ ที่จำเลยทราบดีอยู่แล้วว่า ผู้ร้องมีสิทธิดีกว่าตน แต่เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์ของจำเลยที่ได้โต้แย้งสิทธิของนายสมนึกและผู้ร้องในที่ดินพิพาทโดยกล่าวอ้างถึงสิทธิของตนในที่ดินพิพาทและท้าทายให้ไปฟ้องศาลตลอดมาประกอบกับข้อเท็จจริงที่ได้ความว่า ผู้ร้องกับจำเลยเป็นญาติกัน ทั้งจำเลยยังเป็นทายาทคนหนึ่งของนายจาง ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทมาตั้งแต่เดิมด้วยแล้ว เห็นว่า จำเลยอาจเข้าใจโดยสุจริตว่าช่วงเวลาเกิดเหตุยังอยู่ในช่วงที่โต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกันอยู่และจำเลยมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าผู้ร้องก็เป็นได้ พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีข้อน่าสงสัยตามสมควรว่า จำเลยมีเจตนาบุกรุกที่ดินพิพาทหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานบุกรุกตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์และผู้ร้องในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนคดีแพ่งนั้น เห็นว่า แม้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดอาญาเพราะขาดเจตนาดังวินิจฉัยมาแล้ว แต่การกระทำของจำเลยเป็นการเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทโดยไม่มีสิทธิที่จะกระทำได้ จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ร้อง แม้ในคดีส่วนอาญาจำเลยจะไม่มีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง แต่ในคดีส่วนแพ่งก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 47 วรรคแรก ดังนั้นเมื่อผู้ร้องไม่ประสงค์ให้จำเลยเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกต่อไป จำเลยจึงต้องออกไปจากที่ดินพิพาทและชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้อง ฎีกาของผู้ร้องในข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีส่วนแพ่งตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8