คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13637/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า เวลา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) หมายความถึงวันเดือนปีด้วย ไม่ใช่หมายความเฉพาะเวลากลางวันหรือกลางคืน ฟ้องที่ไม่ได้กล่าวถึงเวลากลางวันหรือกลางคืนจะไม่ชอบด้วยกฎหมายตามบทบัญญัติดังกล่าวหรือไม่ ต้องพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไปว่าฟ้องนั้นกล่าวถึงเวลาพอให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีหรือไม่ ทั้งความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย จะกระทำไปในเวลากลางวันหรือกลางคืน ก็หาเป็นสาระสำคัญแห่งการกระทำผิดไม่ คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ มิได้หลงต่อสู้ในข้อที่มิได้กล่าวไว้นั้น จำเลยย่อมเข้าใจว่าโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดในเวลากลางวันหรือกลางคืน ดังนั้น จะถือว่าฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับเวลากระทำผิดถึงขนาดเป็นฟ้องไม่ชอบหาได้ไม่ ฟ้องโจทก์จึงมีรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 319
จำเลยให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา นายบุญเรือน ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต และยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม
จำเลยไม่ยื่นคำให้การในคดีส่วนแพ่ง
ก่อนอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอถอนคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน อ้างว่าได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยแล้ว ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก จำคุก 3 ปี และปรับ 6,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 3,000 บาท พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยแล้ว ประกอบกับโจทก์ร่วมไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลย โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติของจำเลย 2 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง กับให้จำเลยทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่จำเลยและพนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรมีกำหนด 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้แจ้งชัดว่า เหตุเกิดเวลากลางวันหรือกลางคืน ถือว่าฟ้องโจทก์ไม่ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับเวลากระทำผิดจึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ประกอบมาตรา 215 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ เห็นว่า คำว่า เวลา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หมายความถึง วันเดือนปีด้วย ไม่ไช่หมายความเฉพาะเวลากลางวันหรือกลางคืน ฟ้องที่ไม่ได้กล่าวถึงเวลากลางวันหรือกลางคืนจะไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าวหรือไม่ ต้องพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไปว่าฟ้องนั้นกล่าวถึงเวลาพอให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีหรือไม่ ทั้งความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย จะกระทำไปในเวลากลางวันหรือกลางคืน ก็หาเป็นสาระสำคัญแห่งการกระทำผิดไม่ คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ มิได้หลงต่อสู้ในข้อที่มิได้กล่าวไว้นั้น จำเลยย่อมเข้าใจว่าโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดในเวลากลางวันหรือกลางคืน ดังนี้ จะถือว่าฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับเวลากระทำผิดถึงขนาดเป็นฟ้องที่ไม่ชอบดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยหาได้ไม่ ฟ้องโจทก์จึงมีรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอีก เห็นว่า คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 วันที่ 12 มกราคม 2552 วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2552 วันที่ 1 มีนาคม 2552 วันที่ 18 เมษายน 2552 และวันที่ 11 เมษายน 2553 จำเลยพราก ม. ผู้เยาว์อายุ 16 ปีเศษ ไปเสียจาก บ. ผู้เสียหายซึ่งเป็นบิดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย การกระทำของจำเลยจึงมีเจตนาแยกต่างหากจากกัน เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยเพียงกรรมเดียว จึงไม่ชอบ
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 3 ปี และปรับกระทงละ 6,000 บาท รวม 6 กระทง เป็นจำคุก 18 ปี และปรับ 36,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 ปี และปรับ 18,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟังและให้คุมความประพฤติของจำเลย 2 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง ตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติกำหนด กับให้จำเลยทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่จำเลยและพนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรมีกำหนด24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

Share