แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เงินตามอัตราที่เรียกเก็บตามสัมปทานนั้น คือ ภาษีส่วยสาอากรซึ่งผู้รับสัมปทานจะต้องเสียให้แก่รัฐเพื่อตอบแทนการให้อนุญาตตามสัมปทาน
การเรียกเก็บค่าภาคหลวง แม้แต่เดิมมาจะใช้วิธีกำหนดให้ผู้รับสัมปทานสัญญาไว้ในสัมปทานก็ดี แต่เมื่อมีพระราชบัญญัติป่าไม้ใช้บังคับแล้ว ก็เปลี่ยนมาเป็นการเรียกเก็บโดยอำนาจกฎหมายโดยตรง ฉะนั้น เมื่อมีกฎหมายให้เรียกเก็บในอัตราใดอย่างใดแล้ว ก็จะต้องเป็นไปตามกฎหมายนั้น
ค่าภาคหลวงนั้น เมื่อกฎหมายให้อำนาจรัฐมนตรีกำหนดเป็นท้องที่ได้แล้ว รัฐมนตรีจะกำหนดในคราวเดียวกันให้ใช้อัตรานั้นทั่วทุกท้องที่ในราชอาณาจักรก็ย่อมทำได้ไม่เป็นการเกินอำนาจแต่อย่างใด
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 33/2504)
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าบำรุงป่าคืนจากจำเลยเป็นเงิน ๖,๒๗๙,๗๙๕ บาท ๘๒ สตางค์ พร้อมด้วยดอกเบี้ย โดยอ้างว่าเป็นเงินที่จำเลยบังคับเรียกเก็บโดยมิชอบ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยเรียกเก็บโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยเรียกเก็บโดยมิชอบ พิพากษาให้จำเลยคืนเงินที่เรียกเก็บ ๖,๒๗๙,๗๙๕ บาท ๘๒ สตางค์
จำเลยฎีกา
ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ฟ้องเรียกเงินซึ่งโจทก์ได้ชำระให้จำเลยเป็นเงินค่าบำรุงป่า อ้างว่าจำเลยได้เรียกเก็บเกินกว่าอำนาจของจำเลยที่จะเรียกเก็บได้ ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า จำเลยจะเรียกเก็บค่าภาคหลวงโดยอัตราลูกบาศก์เมตรละ ๕๐ บาท หรือ ๙.๙๔ บาท ข้อโต้แย้งของโจทก์ฟังไม่ขึ้น เพราะเงินตามอัตราที่เรียกเก็บตามสัมปทานนั้นก็คือ ค่าภาษีส่วนสาอากรซึ่ง ผู้รับสัมปทานจะต้องเสียให้แก่หลวงหรือรัฐ เป็นส่วนที่จะต้องชำระแก่หลวงตอบแทนการให้อนุญาตการทำป่าไม้ตามสัมปทานนั้นเอง อันค่าภาคหลวงนี้ เมื่อยังมิได้มีกฎหมายวางบทกำหนดเรียกเก็บไว้เป็นอัตราแน่นอนอย่างไร ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่กรมป่าไม้หรือรัฐมนตรีผู้มีอำนาจให้สัมปทานจะต้องให้ผู้รับสัมปทานสัญญากำหนดความรับผิดของศาลให้ชัดแจ้งไว้
ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจึงมีความเห็นว่า แม้แต่เดิมมา การเรียกเก็บค่าภาคหลวงจะใช้วิธีกำหนดโดยให้ผู้รับสัมปทานสัญญาไว้ในสัมปทานก็ดี แต่เมื่อมีพระราชบัญญัติป่าไม้ออกใช้บังคับแล้ว ระบบการเรียกเก็บค่าภาคหลวงได้เปลี่ยนมาเป็นการเรียกเก็บโดยอำนาจกฎหมายโดยตรง เช่นเดียวกับภาษีอากรทั้งหลายอื่นของรัฐ ฉะนั้นเมื่อมีกฎหมายใช้บังคับให้เรียกเก็บโดยอัตราเท่าใดอย่างไรแล้ว การก็จะต้องเป็นไปตามกฎหมายนั้น การที่รัฐมนตรีผู้มีอำนาจบังคับบัญชากรมป่าไม้ยอมรับข้อสัญญาของผู้รับสัมปทานในอันที่จะชำระค่าภาคหลวงโดยอัตราเท่าใดไว้ก่อนแล้วนั้น หาเป็นเหตุที่จะจำกัดผูกพันอำนาจนิติบัญญัติของรัฐที่จะออกกฎหมายเป็นอย่างอื่นได้ไม่
ปัญหาจึงมีต่อไปว่า การที่รัฐมนตรีได้ออกประกาศกระทรวงเกษตราธิการกำหนดค่าภาคหลวงในท้องที่ทุกจังหวัดสำหรับไม้สักชั้น ก. อัตราลูกบาศก์เมตรละ ๕๐ บาท ฯลฯ นั้น ได้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีความเห็นว่า อำนาจที่พระราชบัญญัติกล่าวให้ไว้แก่รัฐมนตรีนั้น ให้กำหนดค่าภาคหลวงไม่เกิน ๕๐ บาท ต่อลูกบาศก์เมตรได้ โดยวิธีการ ๒ ประการ คือ กำหนดเป็นรายๆ อย่างหนึ่ง หรือกำหนดเป็นท้องที่อย่างหนึ่ง ตามประกาศกระทรวงเกษตราธิการนั้น แสดงให้เห็นว่ารัฐมนตรีได้เลือกเอาการกำหนดค่าภาคหลวงตามอำนาจที่กฎหมายให้ไว้ในทางที่กำหนดเป็นท้องที่ ข้อที่โจทก์โต้แย้งนั้น เห็นว่า เมื่อกฎหมายให้อำนาจกำหนดเป็นท้องที่ได้แล้ว การกำหนดในคราวเดียวกันให้ใช้อัตรานั้นทั่วทุกท้องที่ในราชอาณาจักรก็ย่อมทำได้ มิเป็นการเกินอำนาจแต่อย่างใด เมื่อฟังว่าอัตราค่าภาคหลวงที่รัฐมนตรีกำหนดลูกบาศก์เมตรละ ๕๐ บาท มีผลใช้ได้เสมือนหนึ่ง เป็นกฎหมายดังนี้แล้ว ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจึงมีความเห็นต่อไปว่า อัตราค่าภาคหลวงตามสัมปทานของโจทก์นั้นจึงตกเป็นใช้ไม่ได้ต่อไป เพราะได้มีกฎหมายบังคับใช้เป็นอย่างอื่นไปแล้ว ทั้งในกรณีนี้ก็เข้าอยู่ในเงื่อนไขสัมปทาน โจทก์ตกลงไว้แล้วในข้อ ๑ แห่งสัมปทาน ดังนี้จึงเห็นว่า อัตราค่าภาคหลวงที่จำเลยเรียกเก็บจากโจทก์ในอัตราลูกบาศก์เมตรละ ๕๐ บาทนั้น เป็นอัตราที่เรียกเก็บโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์จะยกเอาสัมปทานขึ้นเป็นข้อยกเว้นมิให้ต้องบังคับตามกฎหมายนั้นไม่ได้ ฎีกาจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ โดยพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้องโจทก์