คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 136/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์สำแดงราคาสินค้าเพื่อเสียภาษีอากร พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเห็นว่าไม่ถูกต้องจึงให้โจทก์เสียภาษีอากรเพิ่ม ซึ่งมีทั้งอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลแยกกันอยู่ชัดเจนดังนี้ ถือว่าได้มีการประเมินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามประมวลรัษฎากรแล้ว หากโจทก์เห็นว่าการประเมินไม่ถูกต้องอย่างไรชอบที่จะอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 30 เสียก่อนเมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วันโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จะอ้างว่าการที่โจทก์อุทธรณ์ต่อจำเลยเป็นการอุทธรณ์เกี่ยวกับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลด้วยไม่ได้ โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินอากรขาเข้าที่โจทก์ชำระไว้เกินคืน แม้โจทก์จะอ้างว่าโจทก์เสียภาษีอากรเกินดังกล่าวไปโดยไม่ยินยอมโดยมีข้อคัดค้านต่อจำเลยไว้ก็ตาม กรณีเป็นเรื่องการเรียกร้องขอคืนอากรเพราะเหตุที่เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริงโจทก์ต้องฟ้องคดีภายใน 2 ปี นับแต่วันที่นำของเข้า มิฉะนั้นคดีของโจทก์ขาดอายุความ ตามมาตรา 10 วรรคห้าแห่งพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์นำกระสุนปืนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้ารวม 17 ใบขน ซึ่งโจทก์ได้แสดงราคาสินค้าที่ซื้อมาจริง แต่จำเลยเห็นว่าราคาที่โจทก์แสดงไว้ต่ำไป จึงประเมินราคาสินค้าโจทก์เพิ่มขึ้น โดยให้โจทก์เพิ่มราคาสินค้า และชำระอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่มขึ้น โจทก์ยอมชำระภาษีอากรดังกล่าวเพิ่มเติมโดยมีคำสั่งโต้แย้งไว้ ขอให้พิพากษาว่าการประเมินราคาสินค้าของโจทก์เพิ่มจำเลยกระทำไม่ชอบ และให้จำเลยคืนเงินที่จำเลยประเมินเรียกเก็บมิชอบแก่โจทก์ 1,083,345.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า การประเมินราคาของจำเลยชอบแล้ว โจทก์มิได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกร้องภาษีฝ่ายสรรพากรคืน ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ
ศาลภาษีอากรพิพากษาให้จำเลยคืนเงินเฉพาะอากรขาเข้าที่เกินมาสำหรับใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า รวม 12 ใบขนแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระให้โจทก์เสร็จ คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกเสีย
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกคืนภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลหรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์สำแดงราคาสินค้าเพื่อเสียภาษีอากร พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเห็นว่าไม่ถูกต้องจึงให้โจทก์เสียภาษีอากรเพิ่ม ซึ่งมีทั้งอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลแยกกันอยู่ชัดเจน กรณีเช่นนี้ถือได้ว่ามีการประเมินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามประมวลรัษฎากรแล้ว หากโจทก์เห็นว่าการประเมินไม่ถูกต้องอย่างไรชอบที่จะอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรมาตรา 30 เสียก่อน เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน แม้การเรียกเก็บภาษีการค้ากับภาษีบำรุงเทศบาลซึ่งต่อเนื่องเชื่อมโยงกับการเรียกเก็บภาษีอากาขาเข้า ก็ไม่มีกฎหมายใดสนับสนุนให้อุทธรณ์การประเมินต่อกรมศุลกากรแทนได้ ทั้งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ได้เป็นหน่วยงานที่ประมวลรัษฎากรกำหนดไว้ต่างหาก การที่โจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อกองวิเคราะห์ราคาของจำเลย ถือไม่ได้ว่าเป็นการอุทธรณ์ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามประมวลรัษฎากร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
อุทธรณ์ต่อไปเกี่ยวกับอายุความ ตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าทั้ง 5 ใบขนที่โจทก์ได้นำเข้ามาในราชอาณาจักรครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2529 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่25 ตุลาคม 2531 นับเป็นเวลาเกิน 2 ปี การที่นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยมีอำนาจตรวจสอบภาษีถ้าเห็นว่าไม่ถูกต้องก็อาจส่งให้โจทก์เสียภาษีอากรเพิ่มเติม เมื่อโจทก์เสียภาษีอากรเพิ่มเติม โดยมีข้อคัดค้านก็ตาม ถ้าเห็นว่าไม่ควรจะเสียภาษีอากรเพิ่มเติมก็ต้องร้องขอคืนเงินอากรที่เสียเพิ่มเติมตามมาตรา 10 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469ซึ่งกำหนดให้สิทธิในการเรียกร้องขอคืนอากรเพราะเหตุที่เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริงเป็นอันสิ้นไปเมื่อครบกำหนดสองปีนับแต่วันที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร สินค้าโจทก์ทั้ง 5 ใบขนนำเข้ามาเกิน 2 ปี จึงขาดอายุความ ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดอายุความ ไว้โดยเฉพาะแล้ว มิใช่มีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามอุทธรณ์โจทก์
พิพากษายืน.

Share