แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะผู้สั่งจ่ายเช็คฉบับที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 8 ถึงที่ 10 ที่ 13 ที่ 15 ที่ 17 ถึงที่ 30 และที่ 35 ถึงที่ 37 ซึ่งเป็นเช็คผู้ถือ โดยให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ร่วมรับผิดตามเช็คเฉพาะฉบับที่ตนลงลายมือชื่อสลักหลังในฐานะผู้ประกัน (อาวัล) จำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่าย และให้จำเลยที่ 6 รับผิดในฐานะผู้สั่งจ่ายเช็คฉบับที่ 38 ซึ่งเป็นเช็คระบุชื่อ โดยให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 7 และที่ 8 ร่วมรับผิดตามเช็คฉบับที่ 38 ในฐานะผู้สลักหลัง ดังนั้น ในส่วนที่ศาลชั้นต้นพิพากษาในตอนต้นว่า ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 8 ร่วมกันชำระเงิน 15,870,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินรวมทั้งหมดตามเช็คดังกล่าวแก่โจทก์จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้อ้างมาในฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งแปดร่วมกันชำระเงิน 23,804,435 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 19,450,000 บาท และค่าปรับวันละ 21,100 บาท โดยให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดชำระเงิน 23,804,435 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 19,450,000 บาท ค่าปรับวันละ 16,100 บาท จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชำระเงิน 23,740,674 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 19,405,000 บาท ค่าปรับวันละ 20,500 บาท จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดชำระเงิน 12,437,176 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 9,775,000 บาท และค่าปรับวันละ 14,700 บาท จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดชำระเงิน 734,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 600,000 บาท และค่าปรับวันละ 600 บาท จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดชำระเงิน 125,675 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 100,000 บาท ค่าปรับวันละ 100 บาท จำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 ร่วมรับผิดชำระเงิน 6,690,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 5,400,000 บาท ค่าปรับวันละ 5,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งแปด ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 8 ร่วมกันชำระเงิน 15,870,000 บาท แก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 1 ร่วมชำระเงิน 15,870,000 บาท จำเลยที่ 2 ร่วมชำระเงิน 15,825,000 บาท จำเลยที่ 3 ร่วมชำระเงิน 7,150,000 บาท จำเลยที่ 5 ร่วมชำระเงิน 100,000 บาท จำเลยที่ 6 ร่วมชำระเงิน 5,400,000 บาท จำเลยที่ 7 ร่วมชำระเงิน 5,400,000 บาท และจำเลยที่ 8 ร่วมชำระเงิน 5,400,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 8 ร่วมกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งแปดต้องร่วมรับผิดชำระเงินตามเช็คฉบับที่ 1 ฉบับที่ 4 ฉบับที่ 7 ฉบับที่ 11 ฉบับที่ 12 ฉบับที่ 14 ฉบับที่ 16 ฉบับที่ 31 ถึงฉบับที่ 34 รวม 11 ฉบับ ให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามฟ้องโจทก์อ้างว่าให้จำเลยที่ 2 กู้ยืมเงินไปโดยฝ่ายจำเลยออกเช็คให้ 38 ฉบับ เช็คลงวันที่ในเดือนมกราคม 2554 ถึงเดือนตุลาคม 2554 เพียง 10 เดือน เป็นเงินถึง 19,450,000 บาท โดยที่ไม่ปรากฏว่าฝ่ายจำเลยมีหลักทรัพย์ใด ๆ เป็นประกัน คงมีเพียงเช็ค 38 ฉบับดังกล่าว กับหนังสือสัญญากู้ที่เขียนด้วยลายมือของโจทก์เองหวัดไปหวัดมามีการขีดลบตกเติมเกือบทุกฉบับเท่านั้น ทั้งเงินที่โจทก์อ้างว่าให้จำเลยที่ 2 กู้ไป 38 ครั้ง ตามทางนำสืบของโจทก์ก็อ้างว่ายังไม่มีการชำระเงินคืนสักครั้ง โจทก์ก็ยอมให้กู้ใหม่อีก จึงนับว่าผิดวิสัยบุคคลปกติทั่วไป เว้นเสียแต่ว่าเป็นเช็คที่โจทก์ให้ฝ่ายจำเลยออกให้เพื่อค้ำประกันผลประโยชน์ของโจทก์ดังที่จำเลยที่ 2 นำสืบ ครั้นเมื่อครบกำหนดตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาวางมัดจำ คือ วันที่ 14 มกราคม 2554 ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 จะรับซื้อที่ดินและอาคารดังกล่าวคืนจากโจทก์ดังที่โจทก์อ้าง แต่โจทก์ก็ให้ฝ่ายจำเลยออกเช็คฉบับที่ 12 ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2554 จำนวนเงิน 330,000 บาท อ้างว่าเป็นเช็คชำระค่าเช่าอาคารเลขที่ 50/2 – 3 ที่ จำเลยที่ 2 จ่ายเป็นค่าเช่าเดือนละ 110,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งจำเลยที่ 2 นำสืบต่อสู้ว่า เช็คฉบับที่ 12 เป็นเช็คที่โจทก์ให้ฝ่ายจำเลยออกให้สำหรับผลประโยชน์เป็นค่าดอกเบี้ยที่โจทก์นำเงินมาร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 2 ในอาคารเลขที่ 50/2 – 3 โดยคิดผลประโยชน์เป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ถึง 3 ต่อเดือน เป็นเงินเดือนละ 110,000 บาท รวม 3 เดือน เป็นเงิน 330,000 บาท เห็นว่า ขณะฝ่ายจำเลยออกเช็คฉบับที่ 12 อาคารเลขที่ 50/2 – 3 ยังไม่มีการปรับปรุง จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จำเลยที่ 2 จะต้องเช่าอาคารดังกล่าวโดยจ่ายค่าเช่าแพงถึงเพียงนั้นทั้งที่ยังไม่สามารถหารายได้จากอาคารที่เช่า นอกจากนี้ สัญญาว่าจ้างปรับปรุงอาคารเลขที่ 50/2 – 3 ที่จำเลยที่ 2 ทำกับนายชำนาญ ก็ปรากฏว่าเป็นสัญญาทำขึ้นภายหลังออกเช็คฉบับที่ 12 ที่โจทก์อ้างว่าชำระค่าเช่า คือ ทำขึ้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2554 แต่เช็คฉบับที่ 12 สั่งจ่ายวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งตามสัญญาดังกล่าวต้องปรับปรุงอาคารเลขที่ 50/2 – 3 เป็นเงินถึง 1,560,000 บาท แบ่งงานเป็น 9 งวด กล่าวคือ ต้องตอกเสาเข็ม เทตอม่อ ผูกเหล็ก เทคานคอดิน ตั้งเสา เทเสาชั้นที่ 1 เทพื้นชั้นที่ 1 เทคานชั้น 2 ตั้งเสาชั้น 2 วางแผ่นพื้นและเทพื้นชั้น 2 เทคานชั้น 3 ตั้งเสาชั้น 3 วางแผ่นพื้นและเทพื้นชั้น 3 ทำโครงหลังคา มุงหลังคา ก่ออิฐฉาบปูนทั้งสามชั้น เดินไฟฟ้า ปูกระเบื้องพื้นและบันได ติดสุขภัณฑ์ บานประตู ติดฝ้า ทาสี เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้จะซื้อที่ดินและอาคารดังกล่าวก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องลงทุนกู้ยืมเงินโจทก์มาปรับปรุงอาคารดังกล่าวเป็นเงินถึง 1,560,000 บาท และไม่มีเหตุผลที่จะต้องเสียค่าเช่าให้แก่โจทก์ถึงเดือนละ 110,000 บาท ในระหว่างที่มีการปรับปรุงอาคารเช่นนั้น นอกจากนี้ เช็คฉบับที่ 34 จำนวนเงิน 300,000 บาท โจทก์ก็เบิกความว่าเป็นค่าเครื่องปรับอากาศ 86,000 บาท ส่วนที่เหลือชำระหนี้ที่จำเลยที่ 2 ค้างค่าวัสดุก่อสร้างของร้านชาญฮาดแวร์และร้านเก้าสิบเก้าและจ่ายค่าแรงให้แก่นายชำนาญ หรือช่างดำ เป็นเช็คลงวันที่ 23 มิถุนายน 2554 แสดงว่าอาคารดังกล่าวซึ่งเริ่มปรับปรุงในเดือนมีนาคม 2554 แล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2554 จึงไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 จะยอมเสียค่าเช่าอาคารในอัตราเดือนละ 110,000 บาท ในระหว่างที่มีการปรับปรุงอาคารเช่นนี้ ทั้งโจทก์ก็นำสืบในเรื่องการเช่านี้อย่างเลื่อนลอย ไม่มีหนังสือสัญญาเช่าแต่อย่างใด และกรณีก็ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ทำการปรับปรุงอาคารดังกล่าวเพื่อจะซื้อที่ดินและอาคารดังกล่าวจากโจทก์ เพราะสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาวางมัดจำ ล่วงเลยระยะเวลาไปแล้ว หากจะต้องปรับปรุงอาคารโดยต้องเสียค่าใช้จ่ายถึง 1,560,000 บาท แล้ว โจทก์กับจำเลยที่ 2 ก็น่าจะต้องทำสัญญาจะซื้อจะขายกันใหม่ให้แน่นอนเสียก่อน และแม้หากจำเลยที่ 2 จะเปลี่ยนเป็นเช่าแทน แต่เมื่อต้องปรับปรุงอาคารโดยเสียค่าใช้จ่ายถึง 1,560,000 บาท และเสียค่าเช่าอีกเดือนละ 110,000 บาท แล้ว ก็น่าจะต้องมีการทำสัญญาเช่าต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาเป็นลายลักษณ์อักษรให้แน่นอนเช่นกัน แต่ก็หามีไม่ พฤติการณ์แห่งคดีฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ปรับปรุงอาคารดังกล่าวเพื่อเพิ่มมูลค่าของที่ดินและอาคารซึ่งมีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของและเป็นผู้ลงทุนเพื่อหากำไร สำหรับเช็คฉบับที่ 4 จำนวนเงิน 200,000 บาท ซึ่งเป็นค่าแรงและค่าวัสดุก่อสร้างในการปรับปรุงตกแต่งอาคารเลขที่ 50/2 – 3 เช็คฉบับที่ 7 จำนวน 600,000 บาท ซึ่งเป็นค่าแรงและวัสดุก่อสร้างและค่าสุขภัณฑ์ที่นำมาติดตั้งในอาคารเลขที่ 50/2 – 3 เช็คฉบับที่ 14 จำนวนเงิน 100,000 บาท ซึ่งเป็นค่าวัสดุก่อสร้างและระบบประปาในอาคารเลขที่ 50/2 – 3 เช็คฉบับที่ 34 จำนวนเงิน 300,000 บาท ซึ่งเป็นค่าเครื่องปรับอากาศ 86,000 บาท ค่าวัสดุก่อสร้างของร้านชาญฮาดแวร์และร้านเก้าสิบเก้า และค่าแรงตามที่โจทก์และจำเลยที่ 2 นำสืบตรงกัน เมื่อเป็นการทำเพื่อปรับปรุงมูลค่าของที่ดินและอาคาร จึงฟังได้ว่าเป็นเช็คที่ฝ่ายจำเลยออกให้โจทก์เพื่อเป็นประกันที่โจทก์ทดรองจ่ายเงินในการปรับปรุงพัฒนาที่ดินและอาคารดังกล่าวเพื่อขายเอากำไรแบ่งปันกัน มิใช่เงินที่จำเลยที่ 2 กู้ยืมโจทก์ตามฟ้อง ส่วนเช็คฉบับที่ 1 จำนวนเงิน 100,000 บาท ที่โจทก์อ้างว่าเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 กู้เงินโจทก์เพื่อไปใช้ในกิจการส่วนตัว แต่จำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่าเป็นเงินค่าติดตั้งเครื่องปรับอากาศที่อาคารเลขที่ 50/2 – 3 เช็คฉบับที่ 11 จำนวนเงิน 100,000 บาท ที่โจทก์อ้างว่าเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 กู้เงินโจทก์ไปใช้ในกิจการส่วนตัว50,000 บาท อีก 50,000 บาท จำเลยที่ 2 นำไปให้นายเสงี่ยมกู้ แต่จำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่าเป็นค่าต่อเติมด้านหลังอาคารเลขที่ 50/2 – 3 เช็คฉบับที่ 16 จำนวนเงิน 300,000 บาท ที่โจทก์อ้างว่าเป็นค่าใช้จ่ายในงานแต่งงานนายภาสกร บุตรชายของจำเลยที่ 2 โดยนำไปไถ่เครื่องเพชรเครื่องทองที่ใช้ในงานแต่งงานและเป็นค่าใช้จ่ายในงานเลี้ยงที่โรงแรม แต่จำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่าเป็นค่าก่อสร้างอันเกี่ยวกับอาคารเลขที่ 50/2 – 3 ตามสัญญาว่าจ้าง เช็คฉบับที่ 32 จำนวนเงิน 150,000 บาท ที่โจทก์อ้างว่าเป็นเงินที่จำเลยที่ 2 กู้จากโจทก์ไปเพื่อทำสะพานข้ามไปในที่ดินสู่ย่านคลองสามซึ่งเป็นที่ดินที่จำเลยที่ 2 ร่วมลง ทุนกับจำเลยที่ 8 เพื่อจัดสรรขาย แต่จำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่าโจทก์สั่งให้ฝ่ายจำเลยสั่งจ่ายเช็คเพื่อค้ำประกันในการที่โจทก์ออกเงินค่าปูกระเบื้องในอาคารเลขที่ 50/2 – 3 เช็คฉบับที่ 33 จำนวนเงิน 300,000 บาท ที่โจทก์อ้างว่าเป็นเงินที่จำเลยที่ 2 นำไปวางมัดจำเพิ่มเพื่อต่ออายุสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินของนางน้อยและของพันจ่าอากาศเอกบุญสืบรายละ 100,000 บาท ส่วนอีก 100,000 บาท จำเลยที่ 2 นำไป ใช้ในกิจการส่วนตัว แต่จำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่าโจทก์สั่งให้ฝ่ายจำเลยสั่งจ่ายเช็คเป็นประกันในการที่โจทก์สำรองเงินค่าต่อเติมในส่วนของงานงวดที่ 6 ตามสัญญาว่าจ้างนั้น เห็นว่า เมื่อนำจำนวนเงินตามเช็คฉบับที่ 1 ฉบับที่ 11 ฉบับที่ 16 ฉบับที่ 32 และฉบับที่ 33 รวมกับจำนวนเงินตามเช็คฉบับที่ 4 ฉบับที่ 7 และฉบับที่ 14 แล้ว เป็นเงินจำนวน 1,850,000 บาท ใกล้เคียงกับเงินตามสัญญาว่าจ้างปรับปรุงอาคาร จำนวน 1,560,000 บาท จึงน่าเชื่อว่าเช็คส่วนนี้ ก็เป็นเช็คที่ฝ่ายจำเลยออกให้เป็นประกันเงินที่โจทก์ออกสำรองไปเพื่อปรับปรุงอาคารอันเป็นการลงทุนในที่ดินและอาคารเลขที่ 50/2 – 3 ด้วยนั่นเอง ดังนี้เช็คฉบับที่ 1 ฉบับที่ 4 เช็คฉบับที่ 7 ฉบับที่ 11 เช็คฉบับที่ 12 ฉบับที่ 14 เช็คฉบับที่ 16 ฉบับที่ 31 ถึงฉบับที่ 34 รวม 11 ฉบับ จึงไม่มีมูลหนี้เป็นการกู้ยืมเงินตามที่โจทก์ฟ้อง ทั้งพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบก็ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าเช็คพิพาททั้ง 11 ฉบับ ดังกล่าวยังมีมูลหนี้ที่จำเลยทั้งแปดจะต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยทั้งแปดไม่ต้องรับผิดชำระเงิน 3,780,000 บาท แก่โจทก์ตามเช็คทั้ง 11 ฉบับ ดังกล่าว มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง โจทก์ยังฟ้องขอให้จำเลยทั้งแปดร่วมกันชำระเบี้ยปรับและดอกเบี้ยของต้นเงินตามเช็คที่จำเลยทั้งแปดต้องรับผิดต่อโจทก์ แต่ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยให้และในชั้นอุทธรณ์ โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยทั้งแปดร่วมกันชำระเบี้ยปรับและดอกเบี้ยของต้นเงินตามเช็คที่จำเลยทั้งแปดต้องรับผิดต่อโจทก์ แต่เบี้ยปรับและดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง โจทก์ขอไม่เกิน 300,000 บาท แต่ศาลอุทธรณ์ก็มิได้วินิจฉัยให้ จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ที่ให้ศาลที่ชี้ขาดคดีต้องตัดสินตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อเมื่อโจทก์ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นมาในชั้นฎีกาอีก จึงถือว่าเป็นปัญหาที่โจทก์ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยให้ เห็นว่า เมื่อคดีในส่วนเช็คฉบับที่ 3 ฉบับที่ 9 ฉบับที่ 10 ฉบับที่ 13 ฉบับที่ 15 ฉบับที่ 18 ฉบับที่ 22 ฉบับที่ 27 ถึงฉบับที่ 30 ซึ่งธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2554 ฉบับที่ 2 ฉบับที่ 5 ฉบับที่ 6 ฉบับที่ 17 ฉบับที่ 19 ถึงฉบับที่ 21 ฉบับที่ 23 ถึงฉบับที่ 26 ซึ่งธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2554 เช็คฉบับที่ 8 ซึ่งธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2554 เช็คฉบับที่ 35 ซึ่งธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2554 เช็คฉบับที่ 36 ซึ่งธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2554 เช็คฉบับที่ 37 ซึ่งธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2554 เช็คฉบับที่ 38 ซึ่งธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2554 ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 8 ต้องร่วมกันรับผิดตามเช็คดังกล่าว ต่อโจทก์ดังกล่าวแล้ว เมื่อหนี้ตามเช็คดังกล่าวเป็นหนี้เงิน โจทก์ย่อมคิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 8 นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง แต่เฉพาะดอกเบี้ยถึงวันฟ้องมิให้เกิน 300,000 บาท ตามที่โจทก์ขอมาในฎีกาของโจทก์ และคดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะผู้สั่งจ่ายเช็คฉบับที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 8 ถึงที่ 10 ที่ 13 ที่ 15 ที่ 17 ถึงที่ 30 และที่ 35 ถึงที่ 37 ซึ่งเป็นเช็คผู้ถือโดยให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ร่วมรับผิดตามเช็คเฉพาะฉบับที่ตนลงลายมือชื่อสลักหลังในฐานะผู้ประกัน (อาวัล) จำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่าย และให้จำเลยที่ 6 รับผิดในฐานะผู้สั่งจ่ายเช็คฉบับที่ 38 ซึ่งเป็นเช็คระบุชื่อโดยให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 7 และที่ 8 ร่วมรับผิดตามเช็คฉบับที่ 38 ในฐานะผู้สลักหลัง ดังนั้น ในส่วนที่ศาลชั้นต้นพิพากษาในตอนต้นว่า ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 8 ร่วมกันชำระเงิน 15,870,000 บาท แก่โจทก์ จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้อ้างมาในฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระเงิน 10,470,000 บาท แก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมชำระเงิน 10,425,000 บาท จำเลยที่ 3 ร่วมชำระเงิน 7,150,000 บาท จำเลยที่ 5 ร่วมชำระเงิน 100,000 บาท และให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 6 ถึงที่ 8 ร่วมกันรับผิดชำระเงิน 5,400,000 บาท แก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 8 ร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินตามเช็คฉบับที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 8 ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแต่ละฉบับเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่เฉพาะดอกเบี้ยถึงวันฟ้องมิให้เกิน 300,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ