แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยให้การเพียงว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งมารดายกให้จำเลยทั้งแปลง ครั้นจำเลยอนุญาตให้โจทก์เข้าทำกิน โจทก์กลับละโมบจึงนำคดีมาฟ้อง โดยจำเลยมิได้ให้การโต้แย้งคัดค้านเรื่องคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้อง รวมทั้งอำนาจฟ้องจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 มิได้รับวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 225 วรรคหนึ่ง แม้ต่อมาศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อนี้ของจำเลย และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ศาลฎีกาเห็นไม่สมควรที่ยกขึ้นวินิจฉัยให้
การอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น คู่ความผู้อุทธรณ์ต้องยกประเด็นข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นอ้างเพื่อโต้แย้งคัดค้านเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นโดยชัดแจ้งว่าไม่ถูกต้องอย่างไร เพราะเหตุใด ตามที่กำหนดไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง เสมอ เพื่อให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่ออุทธรณ์จำเลยกล่าวแต่เพียงว่าโจทก์เบิกความอย่างไร และหากเป็นเช่นนั้น โจทก์ควรทำอย่างไรต่อไป ทำนองว่าที่ถูกแล้วข้อเท็จจริงควรเป็นเช่นไรเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้จึงชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณ 25 ปีที่แล้ว นางอำ พันพลู มารดาโจทก์ และจำเลยแบ่งที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 136 แก่บุตรทุกคน โจทก์ได้ส่วนที่ 3 จากทางด้านทิศเหนือ นางบุดดีหรือบุตรี พันพลู ได้ส่วนที่ 4 จำเลยได้ส่วนที่ 5 ต่อมานางอำโอนที่ดินทั้งแปลงเป็นชื่อจำเลยแทนพี่น้อง และถึงแก่ความตายโดยมิได้จดทะเบียนโอนการครอบครองแก่บุตรแต่ละคน เพราะจำเลยนำที่ดินไปประกันหนี้ของตน หลังจากนั้นโจทก์แลกเปลี่ยนที่ดินกับนางบุดดี และยึดถือครอบครองที่ดินส่วนที่ 4 ตลอดมา พี่น้องทุกคนเคยขอให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินให้ตามสิทธิของแต่ละคน แต่จำเลยบ่ายเบี่ยง วันที่ 13 กรกฎาคม 2542 จำเลยเข้าไปห้ามโจทก์หว่านข้าวในที่ดินส่วนของโจทก์ อ้างว่าเป็นที่ดินของจำเลย เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินส่วนที่ 4 ตามแผนที่เอกสารท้ายหมายเลข 2 เนื้อที่ 5 ไร่ เป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้อง ให้จำเลยแบ่งที่ดินส่วนนั้นแก่โจทก์ หากจำเลยบิดพลิ้วให้ถือคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การว่า โจทก์มิใช่ผู้ครอบครองที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 136 ที่มารดายกให้จำเลยทั้งแปลงตั้งแต่ปี 2522 โดยไม่เคยแบ่งแยกส่วนใดแก่บุตรคนอื่น ต่อมาภายหลังจำเลยเพียงแต่อนุญาตให้โจทก์และพี่น้องคนอื่นเข้าทำกินในที่ดินบางส่วน มิได้ยกให้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์เป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทส่วนที่ 4 ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 136 ตำบลดูกอึ่ง อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้อง ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,700 บาท ยกคำขออื่น
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ให้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันและไม่โต้แย้งกันว่า เดิมที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 136 ตำบลดูกอึ่ง อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นของนางอำ พันพลู มารดาโจทก์จำเลย ตามเอกสารหมาย จ.1 นางอำจดทะเบียนให้ที่ดินแปลงนั้นแก่จำเลยโดยเสน่หาในวันที่ 2 มกราคม 2522 ตามสารบัญจดทะเบียนด้านหลังเอกสารฉบับดังกล่าว ต่อมาวันที่ 5 มิถุนายน 2539 จำเลยซึ่งเป็นผู้ยื่นคำขอออกโฉนดในที่ดินแปลงนั้นให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดร้อยเอ็ด สาขาพนมไพร ว่า เมื่อได้รับโฉนดที่ดินแล้ว จะยื่นคำขอรังวัดแบ่งเขตที่ดินให้แก่โจทก์และพี่น้องคนอื่นตามแนวเขตที่แต่ละคนครอบครองและทำประโยชน์อยู่ และส่วนที่เหลืออีกส่วนหนึ่งเป็นของจำเลยตามเดิม ดังแผนที่เอกสารหมาย จ.5 ที่เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดตามแนวเขตที่ทายาทแต่ละคนของนางอำแบ่งแยกกันครอบครองเป็นสัดส่วนเพื่อออก น.ส.3 ตั้งแต่ปี 2519 โจทก์และพี่น้องคนอื่นจึงยินยอมให้จำเลยขอออกโฉนดที่ดินในนามของตนเองตามบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย จ.3 ปัญหาข้อต่อไปที่ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์มิได้แสดงว่าถูกจำเลยโต้แย้งสิทธิแต่อย่างใดนั้น เห็นว่า จำเลยให้การเพียงว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งมารดายกให้จำเลยทั้งแปลง ครั้นจำเลยอนุญาตให้โจทก์เข้าทำกิน โจทก์กลับละโมบจึงนำคดีมาฟ้อง โดยจำเลยมิได้ให้การโต้แย้งคัดค้านเรื่องคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้อง รวมทั้งอำนาจฟ้องดังกล่าว ประเด็นนี้มิได้เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ภาค 7 มิได้รับวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง แม้ต่อมาศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อนี้ของจำเลย และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ศาลฎีกาก็เห็นไม่สมควรที่จะยกขึ้นวินิจฉัยให้
ปัญหาข้อสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยมีว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อสุดท้ายของจำเลย โดยเห็นว่าจำเลยเพียงแต่ยกเหตุผลมาแสดงว่าที่ถูกนั้นข้อเท็จจริงควรเป็นเช่นไร มิได้โต้แย้งคัดค้านเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นโดยชัดแจ้งว่าไม่ถูกต้องอย่างไร เพราะเหตุใด ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง นั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น คู่ความผู้อุทธรณ์ต้องยกประเด็นข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นอ้างเพื่อโต้แย้งคัดค้านเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นโดยชัดแจ้งว่าไม่ถูกต้องอย่างไร เพราะเหตุใด ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 225 วรรคหนึ่ง เสมอ เพื่อให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยนั้น เมื่อจำเลยกล่าวแต่เพียงว่าโจทก์เบิกความอย่างไร และหากเป็นเช่นนั้น โจทก์ควรทำอย่างไรต่อไป ทำนองว่าที่ถูกแล้วข้อเท็จจริงควรเป็นเช่นไรเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้จึงชอบแล้ว ฎีกาทุกข้อของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาเป็นพับ