คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 135/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วย ก.ม.ตั้งแต่ก่อนใช้ ป.พ.พ. บรรพ 5 และคงเป็นสามีภรรยากันตลอดมา จนใช้ ป.พ.พ.บรรพ 5 แล้ว ในชั้นหลังนี้เมื่อมีปัญหาว่าสามีภรรยาจะขาดจากกันหรือไม่ย่อมจะต้องใช้ ก.ม.ที่มีอยู่ในขณะที่เหตุที่อ้างนั้นเกิดขึ้นบังคับแก่กรณี คือ ป.พ.พ. บรรพ 5 จะใช้ ก.ม. เก่าหาได้ไม่

ย่อยาว

กรณีมีว่า นางสำริต จำเลยเป็นบุตรนางเปลื้อง นายหมง เมื่อนายหมงตายแล้วนางเปลื้องมาได้โจทก์เป็นสามีเมื่อสัก ๓๐ ปี มานี้ ต่อมาราว พ.ศ. ๒๔๘๕ โจทก์ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ พ.ศ.๒๔๙๓ นางเปลื้องตาย นางสำริต จำเลยเข้ารับมรดก โจทก์จึงสึกออกมาคัดค้าน แต่แล้วตกลงกันได้โจทก์ก็กลับไปบวชตลอดมาจนบัดนี้แต่แล้วเกิดขัดแย้งกันขึ้นอีก โจทก์จึงฟ้องเรียกทรัพย์หลายอย่างโดยอ้างว่า เป็นสินเดิมและสินสมรส ของโจทก์บ้าง เป็นมรดกนางเปลื้องที่ตกได้แก่โจทก์บ้าง
จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่าทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องเว้นแต่อันดับ ๒ ที่ บ้านโฉนดที่ ๖๖๗๕ เป็นมรดกของนางปลื้ม โจทก์มิได้ลาบวชออกมารับมรดกภายในอายุความจึงหมดสิทธิ แต่ทรัพย์อันดับ ๒ เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนางเปลื้อง พิพากษาให้แบ่งให้โจทก์ ๒ ส่วน
โจทก์พอใจตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฝ่ายเดียวอุทธรณ์ คดีคงมีปัญหาเพียงว่าทรัพย์อันดับ ๒ เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนางเปลื้องหรือไม่ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ไปบวชเมื่อภายหลังใช้ ป.พ.พ.บรรพ ๕ แล้ว จึงบังไม่ขาดจากการเป็นสามีภรรยากัน ทรัพย์อันดับ ๒ เป็นสินสมรส พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อ ป.พ.พ.บรรพ ๕ ออกใช้บังคับนั้นโจทก์กับนางเปลื้องยังเป็นสามีภรรยากันอยู่ การที่โจทก์บวชเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ ต้องใช้ ก.ม. ที่มีอยู่ในขณะนั้นบังคับแก่กรณี ตาม ป.พ.พ. บรรพ ๕ การบวชหาทำให้การสมรสขาดจากกันไม่ ไม่มีทางจะถือว่าทรัพย์อันดับ ๒ เป็นสินส่วนตัวของนางเปลื้องได้ ศาลฎีกาจึงพิพากษายืน

Share