แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สัญญาประนีประนอมยอมความจำเลยยอมใช้เงินแก่โจทก์ตามกำหนดเวลาที่ระบุ โจทก์ยอมถอนคดีอาญาเรื่องเช็คใน 7 วัน เป็นสัญญาต่างตอบแทน โจทก์ยังไม่ถอนฟ้อง จำเลยก็ยังไม่ต้องใช้เงินแก่โจทก์ โจทก์จึงยังบังคับคดียึดทรัพย์ไม่ได้ศาลให้ถอนการยึดแต่เมื่อโจทก์ถอนคดีตามยอมแล้วโจทก์ก็ขอให้บังคับคดียึดทรัพย์ได้ ไม่ใช่ออกหมายบังคับคดีซ้ำหรือฟ้องซ้ำ
ย่อยาว
ศาลพิพากษาตามยอมซึ่งจำเลยจะใช้เงินแก่โจทก์ 284,420 บาท โดยผ่อนชำระตามที่ระบุไว้ หนี้ตามเช็คระงับ และโจทก์จะถอนคดีที่ฟ้องจำเลยเรื่องเช็คใน 7 วัน ต่อมาโจทก์บังคับคดีนำยึดทรัพย์อ้างว่าจำเลยไม่ชำระเงินตามกำหนด ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ถอนการยึดเพราะโจทก์ยังไม่ได้ถอนคดีตามยอม ต่อมาโจทก์ถอนคดีตามยอมแล้ว โจทก์นำยึดทรัพย์อีก ศาลชั้นต้นยกคำคัดค้านของจำเลย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวข้างต้นเป็นสัญญาต่างตอบแทนคือจำเลยต้องชำระหนี้เป็นเงินจำนวนหนึ่งแก่โจทก์ตามเงื่อนไขและเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้ ส่วนโจทก์ก็มีหน้าที่จะต้องถอนฟ้องคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลย ซึ่งคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภายใน 7 วัน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ถอนฟ้องคดีอาญาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะไม่ยอมชำระหนี้ของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 369ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นให้ถอนการยึดทรัพย์ แต่ต่อมาเมื่อโจทก์ถอนฟ้องคดีอาญาซึ่งเป็นการปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว แม้โจทก์จะไม่ได้ถอนฟ้องภายใน 7 วัน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ก็หาทำให้จำเลยหลุดพ้นความรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ เหตุนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลพิพากษาตามยอมแล้วได้กรณีเช่นนี้ เป็นเรื่องโจทก์ขอออกหมายบังคับคดีใหม่หลังจากถูกศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนการยึดมาก่อนแล้ว ไม่เป็นเรื่องของการขอออกหมายบังคับคดีซ้ำ หรือเรื่องฟ้องซ้ำดังฎีกาของจำเลย”
พิพากษายืน