คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1342/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยซึ่งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลได้ทราบจากผู้ตรวจสอบบัญชีของเทศบาลนั้นว่าเงินของเทศบาลซึ่งอยู่ในความควบคุมดูแลของโจทก์ซึ่งเป็นนายกเทศมนตรีนั้นขาดบัญชีไปเป็นจำนวนมากและพฤติการณ์ของโจทก์มีทางให้จำเลยเข้าใจได้เป็นอย่างมากว่าโจทก์น่าจะมีส่วนรู้เห็นด้วย จำเลยจึงแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไปว่า จำเลยเชื่อมั่นว่าโจทก์กับสมุห์บัญชีเทศบาลนั้นร่วมกันยักยอกหรือเบียดบังเงินของเทศบาลนั้นเอาไปใช้เป็นผลประโยชน์ส่วนตัว การที่จำเลยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนเช่นนั้นเป็นไปเพื่อความชอบธรรม และป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม โดยสุจริต จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองพะเยาจำเลยได้หมิ่นประมาทโจทก์ โดยให้สัมภาษณ์แจ้งแก่ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เอกราชว่า โจทก์และนายศุภกิจ บวรทัศน์ สมคบกันยักยอกเงินผลประโยชน์ของเทศบาลเมืองพะเยารวม ๗ แสนบาท ปรากฏตามหนังสือพิมพ์เอกราชท้ายฟ้อง และโดยแจ้งความต่อร้อยตำรวจโทวินัย ชมภูพาน และร้อยตำรวจเอกอำนวย เพชรยัง พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอพะเยา ว่าโจทก์สมคบกับนายศุภกิจ บวรทัศน์ ยักยอกเงินของเทศบาลเมืองพะเยาไป ๗ แสนบาท ซึ่งเป็นความเท็จ ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชังขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖, ๓๒๘
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พยานโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยใส่ความโจทก์โดยให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ตามฟ้อง จำเลยเพียงแต่ทราบว่าเงินของเทศบาลเมืองพะเยาขาดหายไปจากบัญชีโดยไม่มีหลักฐานว่าโจทก์เป็นผู้ยักยอก จำเลยก็แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าโจทก์เป็นผู้ยักยอกการกระทำของจำเลยจึงเป็นการจงใจใส่ความโจทก์เพื่อให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชังพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ จำคุกจำเลย ๒ เดือนปรับ ๑,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด ๓ ปี คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษ จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้อความที่จำเลยแจ้งต่อพนักงานสอบสวนนั้นมีมูลความจริงอยู่บ้าง จำเลยมิได้มีเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์ จำเลยเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองพะเยา เมื่อเงินของเทศบาลเมืองพะเยา ซึ่งอยู่ในความควบคุมและรับผิดชอบของโจทก์ถูกยักยอกไปโดยทุจริต จำเลยนำความไปแจ้งแก่ตำรวจว่าโจทก์กับนายศุภกิจ บวรทัศน์ ร่วมกันยักยอก เพื่อให้ตำรวจสืบสวนดำเนินคดี จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพราะมีข้อเท็จจริงเพียงพอให้เห็นเช่นนั้น เป็นความชอบธรรมเพื่อป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมในฐานะที่จำเลยเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองพะเยา ย่อมไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๙(๑) พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยซึ่งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองพะเยาได้ทราบจากนายชุมพล ศักดิ์สูง ซึ่งเคยเป็นสมุห์บัญชีของเทศบาลเมืองพะเยา และเทศบาลนั้นให้นายชุมพล ศักดิ์สูง ตรวจสอบการเงินของเทศบาลเมืองพะเยา เพราะนายศุภกิจ บวรทัศน์ สมุห์บัญชีของเทศบาลคนปัจจุบันหนีไป ว่าเงินของเทศบาลขาดบัญชีเป็นจำนวนมาก จำเลยจึงไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองพะเยา มีข้อความตามสำเนารายงานเบ็ดเสร็จประจำวันว่า “นายสงวน วงศ์เมือง ในฐานะสมาชิกสภาเทศบาล มีหน้าที่ควบคุมการบริหารท้องถิ่นได้สืบทราบมาว่าเงินผลประโยชน์ของเทศบาลเมืองพะเยาและยอดเงินอื่น ๆ ได้ขาดหายไปจากบัญชีเป็นจำนวนเงิน๖๘๘,๑๔๖.๓๒ บาท และผู้แจ้งเชื่อมั่นว่านายบุญดี สุทธภักดีนายกเทศมนตรี กับนายศุภกิจ บวรทัศน์ สมุห์บัญชีเทศบาลเมืองพะเยาร่วมกันยักยอกหรือเบียดบังเอาไปใช้เป็นผลประโยชน์ส่วนตัว จึงได้นำความมาแจ้ง เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป” เมื่อจำเลยไปแจ้งความนั้น ทางเทศบาลเมืองพะเยายังไม่มีผู้ใดไปแจ้งความเกี่ยวกับเรื่องนี้ ปรากฏว่าเงินของเทศบาลเมืองพะเยาได้ขาดหายไปจริง และต่อมาเมื่อกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งเรื่องนี้สอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว โจทก์ในฐานะนายกเทศมนตรีต้องรับผิดชดใช้เงินคืนให้เทศบาลเมืองพะเยา เป็นเงิน ๒๕๒,๖๒๒.๒๑ บาท
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยนำความไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่าโจทก์ร่วมกับนายศุภกิจ บวรทัศน์ ยักยอกเงินของเทศบาลเมืองพะเยานั้น เป็นผลเนื่องมาจากเงินของเทศบาลเมืองพะเยาในความควบคุมดูแลของโจทก์ซึ่งเป็นนายกเทศมนตรีขาดบัญชีไปเป็นจำนวนมากย่อมทำให้เข้าใจได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์น่าจะมีส่วนรู้เห็นด้วยประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง ที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยเคยเป็นเทศมนตรีและเป็นกรรมการรักษาเงินในระยะที่โจทก์เป็นนายกเทศมนตรีแล้วลาออกจากตำแหน่ง เพราะโจทก์เอาเงินของเทศบาลไปใช้ส่วนตัวโจทก์มิได้ซักค้านข้อนำสืบของจำเลยดังกล่าวแล้วแต่ประการใดเลยทั้งยังปรากฏตามหนังสือของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายที่ ชร.๑๙/๒๑๐๐๑ว่า เงินที่อยู่ในความรับผิดชอบของนายศุภกิจ บวรทัศน์ สมุห์บัญชีมีบันทึกรายการจ่ายเงิน แต่มีใบสำคัญคู่จ่ายไม่ครบ แสดงให้เห็นความบกพร่องในการใช้จ่ายเงินของเทศบาลซึ่งโจทก์น่าจะต้องรู้เห็นด้วยอย่างยิ่ง จึงมีเหตุผลให้จำเลยเชื่อว่าโจทก์เคยนำเงินเทศบาลไปใช้ส่วนตัวจริงนอกจากนั้นหลังจากที่ตรวจพบว่านายศุภกิจ บวรทัศน์สมุหบัญชีหายไปพร้อมกับเงินขาดบัญชีเป็นจำนวนมาก โจทก์ในฐานะนายกเทศมนตรีเมืองพะเยาเป็นผู้เสียหาย ก็หาได้นำความไปแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจให้รีบสืบสวนจับกุมนายศุภกิจ บวรทัศน์ มาดำเนินคดีไม่พฤติการณ์ของโจทก์จึงมีทางให้จำเลย เข้าใจได้เป็นอย่างมากว่า โจทก์มีส่วนร่วมกับนายศุภกิจ บวรทัศน์ ยักยอกเงินของเทศบาลเมืองพะเยาไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว ดังปรากฏว่า ในการแจ้งความจำเลยก็ได้แจ้งเพียงว่า ผู้แจ้ง (จำเลย) เชื่อมั่นว่า โจทก์และนายศุภกิจร่วมกันยักยอกเงินของเทศบาลเมืองพะเยา เป็นการแสดงข้อความต่อพนักงานสอบสวนผู้รับแจ้งด้วยความสุจริตตามพฤติการณ์ที่จำเลยทราบ คดีไม่มีข้อเท็จจริงอันใดที่จะชี้ให้เห็นว่า จำเลยแกล้งแจ้งความกล่าวโจทก์ให้ได้รับความดูหมิ่นเกลียดชังจากผู้อื่นกลับปรากฏตามผลของการสอบสวนของคณะกรรมการหาตัวผู้รับผิดชอบทางแพ่งในภายหลังว่า โจทก์มีส่วนต้องรับผิดชอบชดใช้เงินคืนให้แก่เทศบาลเมืองพะเยาด้วย ส่วนข้อหาคดีอาญาที่จำเลยแจ้งความไว้นั้นก็เชื่อได้ว่าอยู่ในระหว่างสอบสวนหาหลักฐานต่อไป ซึ่งจะได้ความแน่ชัดต่อเมื่อได้ตัวนายศุภกิจ บวรทัศน์มาสอบสวนก่อน จำเลยเป็นสมาชิกสภาเทศบาล มีอำนาจควบคุมดูแลการบริหารงานของเทศบาลตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ การที่จำเลยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนเช่นนั้น จึงเป็นไปเพื่อความชอบธรรมและป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม เมื่อจำเลยกระทำไปโดยสุจริตดังกล่าวแล้ว จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๙(๑) ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share