แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายเป็นความผิด 2 กระทง กระทงแรกกระทำในขณะผู้เสียหายอายุยังไม่เกิน 13 ปี อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง (เดิม) กระทงที่ 2 กระทำผิดในขณะผู้เสียหายอายุเกิน 13 ปี แต่ยังไม่เกิน 15 ปี อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก (เดิม) แม้กระทงความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก (เดิม) จะต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่เมื่อพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาซึ่งครอบคลุมไปถึงความผิดดังกล่าว ยังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยได้กระทำความผิดดังกล่าวด้วยหรือไม่ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยยกฟ้องไปถึงได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบ มาตรา 215 และ 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก จำคุก 4 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง ให้จำคุก 10 ปี การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เมื่อรวมกับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก แล้ว คงจำคุก 14 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งคัดค้านกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองแตกต่างจากคำให้การในชั้นสอบสวน ในทำนองว่าจำเลยมิได้กระทำตามที่ปรากฏในบันทึกคำให้การดังกล่าว สำหรับบันทึกคำให้การของพยานจะรับฟังเป็นความจริงได้หรือไม่นั้น ก็ได้ความตามบันทึกคำให้การของนางสุเพ็กให้การว่า เมื่อประมาณปี 2538 นางสุเพ็กเห็นจำเลยมุดเข้าไปในมุ้งของผู้เสียหายแล้วถอดกางเกงผู้เสียหายซึ่งกำลังนอนหลับอยู่จนนางสุเพ็กเข้าไปกระชากจำเลยออกมาตบตีและถามจำเลยว่า “จะมานอนกับลูกกูหรือไง” แสดงว่านางสุเพ็กต้องระแวงว่าจำเลยจะกระทำชำเราผู้เสียหายจึงตบตีและต่อว่าจำเลยเช่นนั้น แต่ตามบันทึกคำให้การของผู้เสียหายให้การว่าผู้เสียหายเคยแจ้งให้นางสุเพ็กทราบว่าถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเรา แต่นางสุเพ็กไม่เชื่อหาว่า ผู้เสียหายโกหกและทุบตีผู้เสียหายทุกครั้งที่แจ้งให้ทราบ ซึ่งถ้าผู้เสียหายบอกนางสุเพ็กให้ทราบเช่นนั้น นางสุเพ็กได้เห็นพฤติกรรมของจำเลยที่จะกระทำชำเราผู้เสียหายมาก่อน และระแวงว่าจำเลยจะกระทำชำเราเป็นทุนอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อผู้เสียหายเล่าเรื่องให้ฟังนางสุเพ็กไม่น่าจะกล่าวหาว่าผู้เสียหายโกหกและทุบตีผู้เสียหายดังที่ระบุไว้ในคำให้การของผู้เสียหายเช่นนั้น นอกจากนี้ตามบันทึกคำให้การของผู้เสียหายให้การว่า ผู้เสียหายถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเรามาตั้งแต่ปี 2538 จำนวนหลายครั้ง สำเร็จความใคร่บ้างไม่สำเร็จความใคร่บ้าง จนถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2541 เป็นเวลา 2 ปีเศษ ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ภาพถ่ายผู้เสียหาย แล้ว ผู้เสียหายมีรูปร่างสันทัดเริ่มเข้าสู่วัยสาว เมื่อจำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายได้สำเร็จครั้งหนึ่งแล้วในสองหรือสามครั้งแรกอาจจะมีแผลฉีกขาดที่อวัยวะเพศได้ ส่วนในครั้งต่อ ๆ มาโดยเฉพาะครั้งหลัง ๆ ที่บาดแผลหายแล้ว และถูกจำเลยกระทำชำเรามาหลายครั้งเป็นระยะเวลานานถึง 2 ปีเช่นนี้ อวัยวะเพศของผู้เสียหายน่าจะปรับตัวเข้ากับขนาดของอวัยวะเพศจำเลยได้ การถูกจำเลยกระทำชำเราครั้งหลัง ๆผู้เสียหายไม่น่าจะเจ็บปวดและมีแผลฉีกขาดอีก แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าวันที่ 18 สิงหาคม 2541 นายแพทย์ชุมพลได้ตรวจพบบาดแผลขนาด 1 x 0.5 เซนติเมตร ทางด้านซ้ายของทางเข้าช่องคลอดเป็นรอยแผลเก่าซึ่งใกล้จะหายแล้ว แสดงว่าก่อนได้รับการตรวจไม่นานผู้เสียหายถูกกระทำชำเราจนเกิดบาดแผลที่ทางเข้าช่องคลอดอีก ซึ่งผู้เสียหายก็เบิกความยืนยันว่าถูกนายเก่งข่มขืนกระทำชำเราในคืนวันที่ 11 สิงหาคม 2541 ก่อนผู้เสียหายได้รับการตรวจบาดแผลจากแพทย์นานประมาณ 7 วัน อันเป็นระยะเวลาที่บาดแผลใกล้จะหาย บาดแผลดังกล่าวจึงอาจจะไม่ได้เกิดจากการกระทำชำเราของจำเลยดังที่โจทก์นำสืบก็เป็นได้ ข้อเท็จจริงตามบันทึกคำให้การของพยานเป็นพิรุธดังที่ได้วินิจฉัยมาจึงยังฟังไม่ได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าเป็นความจริงเช่นนั้น พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยกระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นแก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ไม่จำต้องวินิจฉัยพยานจำเลยอีกต่อไป แม้ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก (เดิม) จะต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่เมื่อพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาซึ่งครอบคลุมไปถึงความผิดดังกล่าวยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำความผิดดังกล่าวด้วยหรือไม่ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยไปถึงได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และ 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง