แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หญิงสมัครใจแต่งงานอยู่กินกับชายได้ปีเศษ โดยต่างไม่นำพาต่อการจดทะเบียนสมรส ดังนี้ จะอ้างว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นมิได้ หญิงจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าทดแทนเพื่อการเสียความบริสุทธิ์ของตนจากชาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องใจความว่า เมื่อเดือนธันวาคม 2511 โจทก์ได้หมั้นกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรสาวของจำเลยที่ 2 โดยนำสร้อยคอทองคำกับสร้อยข้อมือรวมราคาทั้งสิ้น 5,000 บาทให้เป็นของหมั้น จำเลยที่ 2 เรียกสินสอดเป็นเงิน 10,000 บาท และโจทก์ปลูกเรือนหอในที่ดินของจำเลยที่ 2 สิ้นเงินไป 50,000 บาท และได้ซื้อเครื่องเรือนสำหรับเรือนหออีก 2,500 บาท โจทก์ได้ทำพิธีแต่งงานกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2512 ได้มอบเงินสินสอดให้จำเลยที่ 2 และมีผู้นำของขวัญกับได้เงินรับไหว้จากญาติอีกซึ่งจำเลยที่ 1 เอาไว้แต่ผู้เดียว จากนั้นโจทก์ได้ขอให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนสมรสแต่จำเลยที่ 1 ก็เพิกเฉย จนเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2515 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนสมรสกับชายอื่น โจทก์จึงขอแยกทางและเรียกของหมั้นเงินค่าของขวัญเงินรับไหว้ครึ่งหนึ่งกับค่าเรือนหอคืน แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 คืนของหมั้น ค่าของขวัญและเงินรับไหว้ครึ่งหนึ่ง ให้จำเลยที่ 2 คืนเงินสินสอด 10,000 บาท และค่าเรือนหอกับเครื่องเรือน 52,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ได้หมั้นจำเลยที่ 1ด้วยสร้อยคอและสร้อยข้อมือทองคำจริง แต่โจทก์ได้ยืมสร้อยคอทองคำหนัก 8 บาทไปตอนอยู่กินด้วยกันและยังไม่ได้คืนให้ เงินสินสอด 10,00บาท จำเลยได้จ่ายเป็นค่าเลี้ยงดูในพิธีแต่งงานหมดแล้ว เรือนที่โจทก์ฟ้องเป็นเรือนที่จำเลยที่ 2 ปลูกขึ้นด้วยเงินของจำเลยเอง และได้ให้ผู้อื่นเช่าเครื่องเรือนเป็นของจำเลยที่ 2 โจทก์เป็นฝ่ายผิดที่ไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรสทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 1 ได้เร่งรัดอยู่เสมอโจทก์ได้ทอดทิ้งไม่อุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 1 ปี 5 เดือนจำเลยที่ 1 จึงได้สมรสใหม่ ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ การที่โจทก์ไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 1 เสียหายจึงฟ้องแย้ง ขอให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายสำหรับความเป็นสาวพรหมจารีย์ของจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 20,000 บาท คืนหรือใช้ราคาสร้อยคอทองคำหนัก 8 บาทเป็นเงิน 4,000 บาท
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์มิได้ยืมสร้อยคอทองคำจากจำเลยที่ 1 โจทก์มิได้ทำละเมิดหรือผิดสัญญาอย่างใด จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายที่เสียสาวพรหมจารีย์
ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 แต่งงานกันโดยไม่นำพาต่อการจดทะเบียนสมรส โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกของหมั้นกับเงินสินสอดคืน เรือนพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 ของขวัญและเงินรับไหว้ยังอยู่กับโจทก์ เงินที่แขกมาช่วยในวันแต่งงานเป็นการช่วยจำเลยที่ 2 จึงเป็นของจำเลยที่ 2 เครื่องเรือนมารดาจำเลยที่ 1 เป็นผู้ซื้อ จำเลยที่ 1 สมัครใจแต่งงานกับโจทก์และโจทก์ได้เสียเงินสินสอดให้บิดามารดาจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ ไม่เชื่อว่าโจทก์ได้ยืมสร้อยคอทองคำจากจำเลยที่ 1 จึงพิพากษาให้ยกฟ้องของโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลย
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน และให้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ทั้งสองฝ่ายเป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ข้อเท็จจริงคดีนี้ได้ความว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้แต่งงานอยู่กินกันฉันสามีภรรยามาตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2512 โดยมิได้จดทะเบียนสมรส เมื่ออยู่กินกันได้ 1 ปีเศษ จำเลยที่ 1 ก็กลับมาอยู่กับจำเลยที่ 2 และคดีมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะประเด็นเรื่องเรือนพิพาทและค่าทดแทนสำหรับการเสียความบริสุทธิ์ของจำเลยที่ 1
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เรือนพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกร้องจากจำเลยที่ 2 และวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายว่า สำหรับประเด็นเรื่องค่าทดแทนในการเสียความบริสุทธิ์ของจำเลยที่ 1 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 สมัครใจแต่งงานอยู่กินกับโจทก์เอง และได้อยู่กินกันมาช้านานถึง 1 ปีเศษแล้ว การที่มิได้มีการจดทะเบียนสมรสกันระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ทั้ง ๆ ที่ได้แต่งงานอยู่กินกันมา 1 ปีเศษเช่นนี้ ย่อมแสดงอยู่ว่าต่างฝ่ายต่างไม่นำพาที่จะให้มีการจดทะเบียนสมรสกัน เพราะหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดประสงค์จะให้มีการจดทะเบียนสมรส ย่อมจะต้องขวนขวายให้มีการจดทะเบียนสมรสขึ้นหลังจากที่ได้แต่งงานกันแล้วเมื่อจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายสมัครใจแต่งงานอยู่กินกับโจทก์โดยต่างไม่นำพาต่อการที่จะให้มีการจดทะเบียนสมรสเช่นนี้ จึงจะอ้างว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นมิได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าทดแทนเพื่อการเสียความบริสุทธิ์ของตนจากโจทก์ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน