แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยก่อสร้างต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต ในระหว่าง เวลาที่พระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479 ใช้บังคับ แต่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคาร เมื่อพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ออกมาใช้บังคับแทนพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479 แล้ว อำนาจของโจทก์ที่สั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคาร จึงต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะสั่งให้รื้อถอนอาคารได้ ก็เฉพาะแต่กรณีตาม มาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร 9 เท่านั้น ฯ มิฉะนั้นจะมีคำสั่งให้รื้อถอนอาคารหาได้ไม่ เมื่อไม่ปรากฏว่าการก่อสร้างหรือต่อเติมอาคารของจำเลยผิดกฎกระทรวงหรือข้อบังคับท้องถิ่น โจทก์ก็ไม่อาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารได้ กรณีของจำเลยต้องด้วย มาตรา 43 แห่ง พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ฯ ที่อาจยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ถูกต้องได้ แม้จำเลยจะเคยยื่นคำขออนุญาตต่อเติมอาคารและไม่ได้รับอนุญาต เพราะเหตุที่โจทก์อ้างว่า ความสูงของอาคารไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะอนุญาตให้ได้ก็ตาม แต่ต่อมาปรากฏว่าจำเลยมิได้ก่อสร้างต่อเติมฝ่าฝืนกฎหมาย จำเลยจึงมีสิทธิยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อเติมอาคารให้โจทก์พิจารณาในเหตุอื่นได้อีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ จำเลยได้รับความยินยอมจากนายสุข ปิงสุทธิวงศ์ เจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๔๐๙๓ ให้ปลูกสร้างอาคารได้ และกรุงเทพมหานคร อนุญาตให้สร้างตึกพักอาศัยสูง ๔ ชั้นในที่ดินดังกล่าว ต่อมาวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๑๗ จำเลยได้ยื่นหนังสือขออนุญาตปลูกสร้างอาคาร โดยขอต่อเติมอาคารหลังเดิมเป็นอาคารสูง ๕ ชั้น แล้วจำเลยได้ดำเนินการต่อเติมไปโดยไม่รอผลการพิจารณาของกรุงเทพมหานคร การทำดัดแปลงต่อเติมขยายพื้นที่อาคารให้มีความสูงรวม ๑๗.๒๕ เมตร ซึ่งอาคารดังกล่าวอยู่ริมถนนซอยที่มีความกว้างเพียง ๖ เมตร ต่อมาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยดัดแปลงต่อเติม และหัวหน้าเขตพญาไทสั่งให้แก้ไขอาคารดังกล่าวภายใน ๓๐ วัน จำเลยอุทธรณ์คำสั่งต่อโจทก์แต่พ้นกำหนด โจทก์พิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยแล้วไม่อนุญาตและผ่อนผันการต่อเติมอาคารดังกล่าว จนถึงวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๒๓ หัวหน้าเขตพญาไทสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารดังกล่าว จำเลยไม่ปฏิบัติตาม ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนอาคารชั้นที่ ๕ หากไม่รื้อถอนให้โจทก์รื้อถอนได้เองโดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การว่า โจทก์ฟ้องคดีไม่ชอบ ต้องดำเนินคดีนี้ต่อศาลอาญา อาคารที่จำเลยต่อเติมมิได้ผิดวัตถุประสงค์ของกฎหมายความสูงของอาคารเมื่อต่อเติมแล้วไม่สูงกว่าระดับพื้นดินเกินกว่าระยะสองเท่าของระยะจากผนังของอาคารจดแนวถนนฟากตรงกันข้าม อยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างได้ คำสั่งให้รื้อถอนไม่แจ้งชัด เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นไม่มีอำนาจสั่งให้รื้อถอนและฟ้องเคลือบคลุม
ก่อนสืบพยาน ศาลชั้นต้นเดินเผชิญสืบที่พิพาท จำเลยรับว่าได้ต่อเติมอาคารชั้นที่ ๕ โดยไม่ได้รับอนุญาตจริง อาคารพิพาทสูง ๑๗.๒๕ เมตร อยู่ติดถนนที่เป็นผิดจราจรรถแล่นกว้าง ๓.๙๐ เมตร สองข้างทางผิวจราจรเป็นทางเท้าสาธารณะเมื่อวัดผนังตึกของจำเลยถึงขอบถนนฝั่งตรงข้ามยาว ๗.๐๕ เมตร เมื่อรวมถึงทางเท้าสาธารณะฝั่งตรงกันข้ามซึ่งอยู่ติดกับผนังตึกของผู้อื่นและอยู่ตรงข้ามกับตัวอาคารของจำเลยแล้วจะมีความยาม ๘.๙๑ เมตร ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว สั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยรื้อถอน อาคารชั้นที่ ๕ หากจำเลยไม่ยอมรื้อให้โจทก์รื้อโดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่า โจทก์มีสิทธิสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารชั้นที่ ๕ ด้วยเหตุว่าจำเลยก่อสร้างโดยมิได้รับอนุญาตและอาคารมีความสูงเกินกว่าความกว้างของแนวถนนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง เพราะความสูงของอาคารไม่เกินความกว้างของแนวถนนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ โจทก์ไม่โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในข้อนี้ คงฎีกาว่า โจทก์มีอำนาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารได้ เพราะจำเลยก่อสร้างโดยมิได้รับอนุญาตเท่ากับยอมรับว่าอาคารของจำเลยที่ต่อเติมมิได้สูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ เห็นว่าจำเลยต่อเติมอาคารในปี พ.ศ. ๒๕๑๗-๒๕๑๘ ซึ่งเป็นเวลาที่ พระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. ๒๔๗๙ ใช้บังคับอยู่ แต่โจทก์มีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารเมื่อวันที่ ๑๗ มกราคา ๒๕๒๓ ซึ่งเป็นเวลาที่ พระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. ๒๔๗๙ แล้ว อำนาจการสั่งรื้อถอนของโจทก์ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งตามมาตรา ๔๒ แห่ง พระราชบัญญัติดังกล่าวเจ้าพนักงานท้องถิ่นจะสั่งให้รื้อถอนได้เฉพาะกรณีที่ก่อสร้างต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาตและการก่อสร้างต่อเติมนั้นผิดกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่น ทั้งต้องเป็นกรณีที่การก่อสร้างหรือต่อเติมนั้น ไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นด้วย เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าการก่อสร้างหรือต่อเติมอาคารของจำเลยผิดกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นดังกล่าว โจทก์จึงไม่อาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารชั้นที่ ๕ โดยอาศัยบทบัญญัติดังกล่าวได้ กรณีของจำเลยนี้ต้องด้วย มาตรา ๔๓ แห่ง พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของอาคารยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ถูกต้องได้ แม้จำเลยเคยขออนุญาตต่อเติมอาคารและไม่ได้รับอนุญาตมาแล้วก็ตาม แต่เหตุไม่อนุญาตดังกล่าวโจทก์อ้างว่าความสูงของอาคารไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะอนุญาตได้ เมื่อข้อเท็จจริง เกี่ยวกับความสูงเป็นที่ยุติว่า จำเลยมิได้ฝ่ายฝืนกฎหมาย จำเลยจึงมีสิทธิที่จะยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อเติมอาคารในเหตุอื่นได้อีก
พิพากษายืน