คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1334/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองซึ่ง เป็นนายทหารเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีแพ่งต่อศาลพลเรือน การที่โจทก์นำคำเบิกความของจำเลยทั้งสองมาฟ้องคดีนี้ หาใช่คดีนี้เกี่ยวพันกับคดีแพ่งดังกล่าวไม่ แต่เป็นเพียงนำคำเบิกความดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐานที่จะอ้างอิงในคดีนี้เท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตรประจำการ และจำเลยที่ 2 เป็นนายทหารประทวนประจำการ จำเลยทั้งสองจึงเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 16(1) และ (3) ตามลำดับ ทั้งเป็นคดีที่ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา 14 คดีจึงอยู่ในอำนาจศาลทหารที่จะพิจารณาพิพากษาตามมาตรา 13

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้นว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๙๓๕/๒๕๓๐ ของศาลแพ่ง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗, ๘๓ โดยในการยื่นฟ้องคดีนี้ โจทก์ได้ยื่นคำร้องด้วยว่าคดีนี้เป็นคดีอาญาที่มีมูลความผิดสืบเนื่องและเกี่ยวพันกับคดีแห่งดังกล่าวที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือนขอให้ศาลชั้นต้นรับฟ้อง ศาลชั้นมีคำสั่งในคำร้องว่า “พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า เป็นคดีเกี่ยวพันกับคดีแพ่งที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือน จึงไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร และต้องดำเนินคดีในศาลพลเรือน ให้รับไว้พิจารณา” ต่อมาศาลชั้นต้นได้ไต่สวนมูลฟ้องโดยสืบพยานโจทก์ไปบางปากแล้ว เห็นว่า คดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้น แต่อยู่ในอำนาจของศาลทหารเพราะจำเลยทั้งสองเป็นทหารประจำการ จึงมีคำสั่งให้คืนคำฟ้องแก่โจทก์ จำหน่ายคดีจากสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาในชั้นนี้มีว่า คดีนี้เป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารเพราะเป็นคดีเกี่ยวพันกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๙๑๕๐/๒๕๒๙ หมายเลขแดงที่ ๑๙๓๕/๒๕๓๐ ของศาลแพ่ง ซึ่งอยู่ในอำนาจศาลพลเรือนตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๔ (๒) เป็นเหตุให้ต้องดำเนินคดีนี้ต่อศาลพลเรือนตามมาตรา ๑๕ วรรคแรก หรือไม่ และการที่ศาลชั้นต้นสั่งในคำร้องให้รับคดีไว้พิจารณามีผลเป็นการรับฟ้องแล้วหรืไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้ว่าจำเลยทั้งสองเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๙๑๕๐/๒๕๒๙ หมายเลขแดงที่ ๑๙๓๕/๒๕๓๐ ของศาลแพ่ง การที่โจทก์นำคำเบิกความของจำเลยทั้งสองมาฟ้องคดีนี้ หาใช่คดีนี้เกี่ยวพันกับคดีแพ่งดังกล่าวไม่ แต่เป็นเพียงนำคำเบิกความดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐานที่จะอ้างอิงในคดีนี้เท่านั้น เมื่อจำเลยที่ ๑ เป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตรประจำการ และจำเลยที่ ๒ เป็นนายทหารประทวนประจำการ จำเลยทั้งสองจึงเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามมาตรา ๑๖ (๑) และ (๓) ตามลำดับ ทั้งเป็นคดีที่ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา ๑๔ คดีจึงอยู่ในอำนาจศาลทหารที่จะพิจารณาพิพากษาตามมาตรา ๑๓
ที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นได้สั่งในคำร้องให้รับฟ้องไว้พิจารณา แสดงว่าศาลชั้นต้นได้ใช้ดุลพินิจยอมรับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๑๔ (๔) แล้วนั้น เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องาจำเลยทั้งสองซึ่งศาลชั้นต้นจะต้องทำการไต่สวนมูลฟ้องเสียก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๖๒ (๑) การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องให้รับคดีไว้พิจารณานั้น ย่อมมีความหมายเพียงว่า ให้รับคดีนี้ไว้ทำการไต่สวนมูลฟ้อง เพราะมีความเห็นว่าเป็นคดีที่ขึ้นศาลพลเรือนเท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่าศาลชั้นต้นได้ประทับฟ้องไว้แล้ว เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้อยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้น จะถือว่าศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจรับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาหาได้ไม่ และที่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งคืนคำฟ้องของโจทก์ไป จึงเป็นการชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share