คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1333/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดภูเก็ต เป็นคดีหมายเลขดำที่ 1508/2543 อ้างว่า ที่ดินพิพาทโฉนดตราจอง เลขที่ 169 ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดย ส. ถือกรรมสิทธิ์ไว้แทน แต่จำเลยทั้งสี่ร่วมกันฉ้อฉลโจทก์โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 โดยมีเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์บังคับคดีเอาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ แล้วจำเลยที่ 3 จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันการชำระหนี้แก่จำเลยที่ 4 โดยรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจำนอง แม้ในคดีนี้โจทก์จะมิได้มีคำขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันโอนที่ดินพิพาทคืนโจทก์ แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาคดีนี้ได้ก็ต่อเมื่อได้มีคำวินิจฉัยเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดย ส. ถือกรรมสิทธิ์ไว้แทนหรือไม่ เมื่อปรากฏว่าคดีหมายเลขดำที่ 1508/2543 อยู่ระหว่างพิจารณาของศาลจังหวัดภูเก็ต การที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินตามคดีหมายเลขดำที่ 198/2546 คดีหมายเลขแดงที่ 303/2554 และฟ้องคดีนี้ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจำนองเพื่อให้ที่ดินกลับมาเป็นชื่อของ ส. เป็นคนละประเด็นกับคดีหมายเลขดำที่ 1508/2543 ของศาลจังหวัดภูเก็ต ในประเด็นที่ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่โอนที่ดินไปให้แก่บุคคลอื่นเป็นการฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ กับประเด็นที่ว่าการจำนองอันเกิดจากการฉ้อฉลตามฟ้องนั้น ศาลต้องฟังข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยในคดีหมายเลขดำที่ 1508/2543 ของศาลจังหวัดภูเก็ตก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดย ส. ถือกรรมสิทธิ์ไว้แทนหรือไม่ เมื่อศาลในคดีดังกล่าวมีคำพิพากษาถึงที่สุดอย่างไรแล้ว คำพิพากษาย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในคดีนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145
คดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขดำที่ 1508/2543 ของศาลจังหวัดภูเก็ตหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

ย่อยาว

คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันมากับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 198/2546 หมายเลขแดงที่ 303/2554 ของศาลชั้นต้น แต่คดีดังกล่าวถึงที่สุดโดยคู่ความมิได้ฎีกา คงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาให้ศาลพิพากษาว่านิติกรรมการจำนองที่ดินโฉนดตราจองเลขที่ 169 ระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 ไม่มีผลผูกพันที่ดินโฉนดตราจองเลขที่ 169 โจทก์และกองมรดกของนายชัยสิน
จำเลยทั้งสี่ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมให้รวมสั่งเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา โดยให้ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราวก่อนและเมื่อคดีอันเป็นมูลของฟ้องซ้อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดเป็นประการใดแล้วให้โจทก์แถลงให้ศาลชั้นต้นทราบเพื่อดำเนินการต่อไป และให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 303/2554 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2546 ที่มีคำสั่งว่า เป็นคดีมีทุนทรัพย์ให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้อง กับให้คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นและในศาลอุทธรณ์ส่วนที่เกินสองร้อยบาทแก่โจทก์
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่า ที่ดินพิพาทโฉนดตราจองเลขที่ 169 ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่นายชัยสิน ถือกรรมสิทธิ์ไว้แทนโดยจำเลยทั้งสี่ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว เนื่องจากมีการฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต่อศาลจังหวัดภูเก็ต ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1508/2543 แต่จำเลยทั้งสี่ร่วมกันฉ้อฉลโจทก์โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายชัยสินได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 โดยมีเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์บังคับคดีเอาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ แล้วจำเลยที่ 3 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันการชำระหนี้แก่จำเลยที่ 4 โดยรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนเป็นคดีหมายเลขดำที่ 198/2546 หมายเลขแดงที่ 303/2554 และฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจำนองเป็นคดีนี้ เพื่อให้ที่ดินพิพาทกลับคืนสู่มรดกของนายชัยสิน ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่า สภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1508/2543 ของศาลจังหวัดภูเก็ต กับคดีหมายเลขดำที่ 198/2546 หมายเลขแดงที่ 303/2554 และคดีนี้ในส่วนที่โจทก์กล่าวอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยให้นายชัยสินถือกรรมสิทธิ์ไว้แทนนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งแม้ในคดีนี้โจทก์จะมิได้มีคำขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันโอนที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาในคดีนี้ได้ ก็ต่อเมื่อได้มีการวินิจฉัยเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยให้นายชัยสินถือกรรมสิทธิ์แทนหรือไม่ เมื่อปรากฏว่าคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1508/2543 อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลจังหวัดภูเก็ต การที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 198/2546 หมายเลขแดงที่ 303/2554 และคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับประเด็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยให้นายชัยสินถือกรรมสิทธิ์แทนหรือไม่ จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขดำที่ 1508/2543 ดังกล่าวซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ฎีกา คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 จำเลยที่ 4 ฎีกาว่า การฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองเพราะเหตุกลฉ้อฉลนั้น โจทก์จะต้องฟ้องคู่กรณีทั้งสองฝ่ายที่ทำนิติกรรมจำนองดังกล่าวจึงจะบังคับตามคำขอของโจทก์ได้ แต่ฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขดำที่ 1508/2543 ของศาลจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีผลทำให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 พ้นจากการถูกบังคับตามคำพิพากษา คงเหลือจำเลยที่ 4เพียงฝ่ายเดียว ศาลย่อมไม่อาจพิพากษาตามคำขอของโจทก์ได้ จึงต้องพิพากษายกฟ้อง เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนตามคดีหมายเลขดำที่ 198/2546 หมายเลขแดงที่ 303/2554 และฟ้องคดีนี้ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจำนอง เพื่อให้ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นชื่อนายชัยสินซึ่งเป็นคนละประเด็นกับคดีหมายเลขดำที่ 1508/2543 ของศาลจังหวัดภูเก็ต จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะพ้นจากการถูกบังคับตามคำพิพากษาเฉพาะประเด็นที่ว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยให้นายชัยสินถือกรรมสิทธิ์แทนหรือไม่เท่านั้น แต่ยังถูกฟ้องในประเด็นที่ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นการ ฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ ซึ่งการวินิจฉัยในส่วนที่เกี่ยวกับประเด็นขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนในคดีหมายเลขดำที่ 198/2546 หมายเลขแดงที่ 303/2554 และการจำนองอันเกิดจากการฉ้อฉลตามฟ้องคดีนี้นั้น ศาลจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยในคดีหมายเลขดำที่ 1508/2543 ของศาลจังหวัดภูเก็ตก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์โดยนายชัยสินถือกรรมสิทธิ์แทนหรือไม่ เมื่อศาลในคดีดังกล่าวมีคำพิพากษาถึงที่สุดอย่างไรแล้ว คำพิพากษาย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้จำหน่ายคดีหมายเลขดำที่ 198/2546 หมายเลขแดงที่ 303/2554 กับคดีนี้ และรอผลคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 1508/2543 ของศาลจังหวัดภูเก็ตจึงชอบแล้ว ที่โจทก์แก้ฎีกาว่าจำเลยที่ 4 ไม่ได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีว่าฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขดำที่ 1508/2543 ของศาลจังหวัดภูเก็ต ฎีกาของจำเลยที่ 4 จึงเป็นเรื่องที่มิได้ว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ชอบที่ศาลฎีกาจะไม่รับไว้พิจารณา เห็นว่า แม้จำเลยที่ 4 จะไม่ได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีไว้แต่ปัญหาว่าฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขดำที่ 1508/2543 ของศาลจังหวัดภูเก็ต หรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้ยกขึ้นวินิจฉัยไว้แล้วและจำเลยที่ 4 ย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง ศาลฎีกาชอบที่จะรับไว้พิจารณา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share