คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1333/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ช. เป็นตัวแทนในการหาผู้เอาประกันมีหน้าที่ชักชวนให้ผู้อื่นมาทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลย ไม่ใช่ตัวแทนในการทำสัญญาประกันชีวิตของจำเลยตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 5 และมาตรา 71 จึงไม่ใช่ตัวแทนของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่ ช. ได้ทราบหรือควรจะทราบข้อความจริงขณะทำหนังสือรับรองสุขภาพว่า ส. เคยป่วยเป็นโรคตับอักเสบและมีอาการแน่นหน้าอกเนื่องจากดื่มสุรามากได้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล จะถือว่าจำเลยได้ทราบความจริงดังกล่าวด้วยหาได้ไม่
ส. รู้อยู่ว่าตนเป็นโรคตับอักเสบแต่ละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริงที่อาจจูงใจให้จำเลยปฏิเสธไม่ทำสัญญาหรือเรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นย่อมทำให้สัญญาประกันชีวิตระหว่าง ส. กับจำเลยเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดากับนายสมใจ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2538 นายสมใจทำสัญญาประกันชีวิตไว้กับจำเลยโดยกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยไว้เป็นเงิน 100,000 บาท โดยมีเงื่อนไขจ่ายค่าสินไหมทดแทนในกรณีเสียชีวิตเป็นเงิน 100,000 บาท กรณีเสียชีวิตด้วยอุบติเหตุเป็นเงิน 200,000 บาท กำหนดให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ ต่อมาเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2540 นายสมใจประสบอุบัติเหตุรถเฉี่ยวชนเสียชีวิตลง จำเลยต้องจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนเพื่อเหตุมรณะจำนวน 100,000 บาท และเพื่อเหตุมรณะจากอุบัติเหตุอีกจำนวน 200,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 300,000 บาท ให้แก่โจทก์ โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2540 ที่จำเลยปฏิเสธการจ่ายเงินจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า นายสมใจได้สมัครขอทำประกันชีวิตกับจำเลยแบบสะสมทรัพย์ ไม่ตรวจสุขภาพ 20 ปี วงเงินประกัน 100,000 บาท สัญญาประกันภัยกำหนดระยะเวลา 20 ปี วงเงิน 100,000 บาท สัญญาเพิ่มเติมผลประโยชน์ทุพพลภาพโดยสิ้นเชิงถาวรวงเงิน 200,000 บาท และสัญญาเพิ่มเติมผลประโยชน์อันพึงได้รับเนื่องจากอุบัติเหตุวงเงิน 200,000 บาท และขอต่ออายุกรมธรรม์ประกันชีวิตเนื่องจากขาดส่งเบี้ยประกันชีวิตโดยปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพที่ว่า นายสมใจเคยดื่มสุราหรือสิ่งมึนเมาเป็นประจำ มีข้อบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจเคยได้รับการรักษาเกี่ยวกับโรคตับอักเสบ และในระหว่าง 5 ปี ที่ผ่านมาเคยเจ็บป่วย การผ่าตัด การปรึกษาแพทย์ซึ่งหากจำเลยทราบล่วงหน้า จำเลยจะบอกปัดไม่รับประกันชีวิตหรือเรียกเบี้ยประกันชีวิตเพิ่มขึ้น สัญญาประกันชีวิตจึงเป็นโมฆียะ จำเลยทราบเมื่อกลางเดือนมีนาคม 2540 และจำเลยได้บอกล้างแล้ว เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2540 พร้อมแจ้งขอคืนเงินเบี้ยประกันชีวิตที่นายสมใจชำระไว้ จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระเงินค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันชีวิตและสัญญาเพิ่มเติมผลประโยชน์ต่างๆ ให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยไม่ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2538 นายสมใจได้ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยแบบสะสมทรัพย์ ไม่ตรวจสุขภาพ 20 ปี วงเงินประกัน 100,000 บาท สัญญาเพิ่มเติมผลประโยชน์ทุพพลภาพโดยสิ้นเชิงถาวรวงเงิน 200,000 บาท สัญญาประกันภัยกำหนดระยะเวลา 20 ปี วงเงิน 100,000 บาท และสัญญาเพิ่มเติมผลประโยชน์อันพึงได้รับเนื่องจากอุบัติเหตุวงเงิน 200,000 บาท โดยกำหนดให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันชีวิตเอกสารหมาย ล.2 เมื่อครบกำหนดชำระเบี้ยประกันชีวิต นายสมใจไม่ชำระเบี้ยประกันชีวิตให้แก่จำเลย กรมธรรม์ประกันชีวิตจึงขาดอายุ ต่อมาวันที่ 17 ธันวาคม 2539 นายสมใจได้ขอต่ออายุกรมธรรม์ประกันชีวิตดังกล่าวโดยได้ชำระเบี้ยประกันชีวิตและกรอกรายละเอียดในหนังสือรับรองสุขภาพกับนายชัยรัตน์ตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยในช่วงที่นายสมใจป่วยพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลอ่างทองและนายสมใจยืนยันว่ามีสุขภาพปกติตามหนังสือรับรองสุขภาพเอกสารหมาย ล.3 โดยนายสมใจไม่แจ้งความจริงให้จำเลยทราบว่านายสมใจเคยป่วยเป็นโรคตับอักเสบและได้รับการรักษาคลินิกนายแพทย์พิเชษฐ์ ธงทองเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2537 และเมื่อวันที่ 2 ถึงวันที่ 27 ธันวาคม 2539 นายสมใจมีอาการแน่นหน้าอกเนื่องจากดื่มสุรามากเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลอ่างทองตามเอกสารหมาย ล.8 และ จ.9 จำเลยได้ต่ออายุกรมธรรมประกันชีวิตให้นายสมใจตามเอกสารหาย จ.8 ต่อมาวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2540 นายสมใจถึงแก่ความตายด้วยอุบัติเหตุรถยนต์เฉี่ยวชน โจทก์แจ้งให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนจำเลยได้บอกล้างสัญญาประกันชีวิตเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2540 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยใช้สิทธิบอกล้างสัญญาประกันชีวิตพ้นกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่จำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างได้หรือไม่โดยโจทก์ฎีกาว่า จำเลยเชิดนายชัยรัตน์ เปียศรี เป็นตัวแทนของจำเลย เมื่อนายชัยรัตน์ทราบมูลอันจะบอกล้างสัญญาประกันชีวิตตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2539 ต้องถือว่าจำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างในวันดังกล่าวด้วย ในข้อนี้โจทก์อ้างเพียงว่า นายชัยรัตน์เป็นตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยได้ลงชื่อเป็นพยานในหนังสือรับรองสุขภาพและใบรับเงินชั่วคราวเอกสารหมาย ล.3 และ ล.4 เห็นว่า จากข้อนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้เชิดหรือแสดงออกอย่างใดว่านายชัยรัตน์เป็นตัวแทนผู้มีอำนาจทำสัญญาประกันชีวิตแทนจำเลยได้ การลงชื่อเป็นพยานในหนังสือรับรองสุขภาพและออกใบรับเงินชั่วคราวว่าได้รับเงินค่าเบี้ยประกันภัยไว้แทนจำเลยเท่านั้นยังไม่พอฟังว่าผู้รับเบี้ยประกันภัยเป็นตัวแทนของจำเลย กลับได้ความจากนายชูศักดิ์ และนายพรชัยพนักงานของจำเลยมาเป็นพยานจำเลยเบิกความว่า นายชัยรัตน์ เป็นเพียงนายหน้าหาผู้เอาประกันให้แก่จำเลยและมีอำนาจรับเงินแทนจำเลยอย่างเดียว แต่ต้องออกใบเสร็จรับเงินชั่วคราวจึงจะผูกพันจำเลย ดังนี้ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า นายชัยรัตน์เป็นเพียงตัวแทนประกันชีวิตมิใช่เป็นตัวแทนผู้มีอำนาจรับประกันภัยของจำเลยซึ่งตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 5 ได้ให้คำจำกัดความของตัวแทนประกันชีวิต หมายความว่า ผู้ซึ่งบริษัทมอบหมายให้ทำการชักชวนให้บุคคลทำสัญญาประกันชีวิตกับบริษัทและมาตรา 71 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ตัวแทนประกันชีวิตอาจทำสัญญาประกันชีวิตในนามของบริษัทได้เมื่อได้รับมอบอำนาจเป็นหนังสือจากบริษัท แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบว่านายชัยรัตน์เป็นตัวแทนประกันชีวิตผู้ได้รับมอบอำนาจเป็นหนังสือจากจำเลยให้ทำสัญญาประกันชีวิตในนามของจำเลยได้ เช่นนี้ นายชัยรัตน์จึงเป็นเพียงตัวแทนในการหาผู้เอาประกันมีหน้าที่ชักชวนให้ผู้อื่นมาทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยเท่านั้น ไม่ใช่ตัวแทนในการทำสัญญาประกันชีวิตของจำเลยจึงไม่ใช่ตัวแทนของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์การที่นายชัยรัตน์ได้ทราบหรือควรจะทราบข้อความจริงขณะทำหนังสือรับรองสุขภาพว่านายสมใจเคยป่วยเป็นโรคตับอักเสบและมีอาการแน่นหน้าอกเนื่องจากดื่มสุรามากได้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลอ่างทอง จะถือว่าจำเลยได้ทราบความจริงดังกล่าวด้วยหาได้ไม่นอกจากนี้จำเลยยังนำสืบว่า หลังจากนายสมใจเสียชีวิตจำเลยได้ตรวจสอบหลักฐานและประวัติเกี่ยวกับสุขภาพของนายสมใจ ทราบผลการตรวจสอบเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2540 ตามเอกสารหมาย ล.7 ว่านายสมใจปกปิดข้อความจริงว่าเคยป่วยโรคตับอักเสบและมีอาการแน่นหน้าอกเนื่องจากดื่มสุรามาก หากจำเลยทราบความจริงจำเลยจะไม่ต่ออายุกรมธรรม์ประกันชีวิตกับนายสมใจ โดยโจทก์ไม่นำสืบหักล้างดังนั้นการที่นายสมใจรู้อยู่ว่าตนเป็นโรคตับอักเสบแต่ละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริงที่อาจจูงใจให้จำเลยปฏิเสธไม่ทำสัญญาหรือเรียกเบี้ยประกันสูงขึ้น ย่อมทำให้สัญญาประกันชีวิตระหว่างนายสมใจกับจำเลยเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 วรรคหนึ่ง จำเลยบอกล้างสัญญาประกันชีวิตเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2540 จึงเป็นการบอกล้างภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่จำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างได้แล้ว สัญญาประกันชีวิตจึงเป็นโมฆะจำเลยไม่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share