คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1331/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทำสัญญาประนีประนอมยอมให้ค่าเสียหายในเรื่องทำให้คนตายโดยประมาทเป็นการถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว ต่อมาได้เพิ่มเติมข้อความว่า จะรับค่าเสียหายไปได้ต่อเมื่อคดีที่ผู้ถูกฟ้องทางอาญาฐานทำให้คนตายนั้นถึงที่สุดไม่มีผิดตามกฎหมายแล้ว ดังนี้ เป็นการตกลงที่จะให้ฝ่ายรับค่าเสียหายกระทำผิดกฎหมายหรือให้บิดเบือนข้อเท็จจริงอันจะช่วยให้ผู้กระทำผิดพ้นอาญาไป ข้อตกลงใหม่จึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน เป็นโมฆะ

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๐๓ นายแสวงบิดานายสุวภาพได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความไว้กับโ๗ทก์ต่อกรมการอำเภอว่า นายแสวงยอมเสียค่าเสียหายให้โจทก์ในกรณีที่นายสุวภาพได้ขับรถยนต์ของนายแสงโดยประมาท ทำให้นายเต๊กสามีโจทก์ถึงแก่ความตาย เป็นเงิน ๕,๑๖๐ บาท เงินรายนี้มอบให้จำเลยไว้ เมื่อโจทก์ต้องการให้เรียกร้องได้จากจำเลย หลังจากทำสัญญาแล้ว จำเลยได้มอบเงินค่าเสียหายให้โจทก์ ๒,๕๐๐ บาท คงค้าง ๒,๖๖๐ บาท โจทก์ขอรับเงินจากจำเลย ๆ ก็ไม่ยอมชำระให้ จึงขอให้ศาลบังคับ
จำเลยต่อสู้ว่ามีการทำสัญญาประนีประนอมกันจริง แต่ไม่ตรงกับความประสงค์ของคู่สัญญา ดังนั้น ในวันนั้นเอง เมื่อโจทก์รับเงิน ๒,๕๐๐ บาทแล้ว โจทก์กับนายแสวงและจำเลยได้แสดงเจตนาร่วมกันให้เลิกสัญญาที่ทำกันไว้แล้วเสีย โดยตกลงทำสัญญาประนีประนอมขึ้นใหม่ว่า เงินที่ค้างอีก ๒,๖๖๐ บาทนั้น โจทก์จะรับเอาในเมื่อคดีอาญาที่นายสุวภาพต้องหาถึงที่สุด และปรากฎว่านายสุวภาพไม่มีความผิดตามกฎหมายสัญญาประนีประนอมท้ายฟ้องจึงถูกยกเลิก และปรากฏว่านายสุวภาพถูกศาลพิพากษาจำคุก โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินจากจำเลยได้ อนึ่ง จำเลยไม่ใช่คู่สัญญากับโจทก์ ทั้งไม่ใช่ตัวแทนหรือค้ำประกันนายแสวงแต่อย่างใด จำเลยไม่ต้องรับผิด
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่าสัญญาประนีประนอมท้ายฟ้องชอบด้วยกฎหมายจำเลยลงชื่อในสัญญาฉบับนี้ด้วย ถือได้ว่าเข้ามาเป็นคู่สัญญากับโจทก์ ส่วนสัญญาท้ายคำให้การจำเลยมีเงื่อนไขที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย จึงพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน ๒,๖๖๐ บาทแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า สัญญาท้ายฟ้องใช้ได้ ส่วนสัญญาท้ายคำให้การก็เป็นเงื่อนไขที่ตกลงกันใหม่ตามความประสงค์ของคู่สัญญา ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ฉะนั้น เมื่อนายสุวภาพมีความผิดต้องโทษ โจทก์จึงไม่มีสิทธิรับเงินที่เหลือ พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงดังศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่านายสุวภาพบุตรนายแสวงขับรถยนต์ประมาทเป็นเหตุให้สามีโจทก์ตาย โจทก์จำเลยและนายแสวงได้ไปแจ้งนายอำเภอบ้านนาขอทำสัญญาให้ค่าเสียหายกัน โดยบอกว่าจะให้เลิกความเรื่องบุตรนายแสวงขับรถยนต์ทับสามีโจทก์ตาย นายอำเภอว่าเรื่องทางอาญาตกลงกันไม่ได้ รุ่งขึ้นบุคคลทั้ง ๓ จึงให้นายอำเภอทำสัญญาประนีประนอมฉบับท้ายฟ้องแล้วจำเลยได้ให้เงินโจทก์ ๒,๕๐๐ บาท โดยทำหลักฐานดังเอกสารท้ายคำให้การจำเลยมีใจความว่า โจทก์รับเงินไปตามที่นายแสวงทำบันทึกที่อำเภอ และเพิ่มเติมข้อความว่า ส่วนที่ค้างโจทก์จะรับต่อเมื่อคดีถึงที่สุด ในเมื่อนายสุวภาพไม่มีผิดตามกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อความเพิ่มเติมในเอกสารท้ายคำให้การเป็นข้อตกลงที่แก้ไขสัญญาที่ทำไว้ต่ออำเภอ และเป็นความประสงค์ที่จะให้โจทก์เลิกคดีอาญานั่นเอง จึงเป็นข้อตกลงที่จะให้โจทก์กระทำผิดกฎหมาย หรือให้บิดเบือนข้อเท็จจริงอันจะช่วยให้นายสุวภาพหลุดพ้นจากคดีอาญา หาใช่เพียงเป็นเงื่อนไขตามธรรมดาว่า นายสุวภาพจะมีผิดหรือไม่เท่านั้นไม่ เพราะตามปกติถ้านายสุวภาพไม่มีผิดแล้ว โจทก์ย่อมเรียกร้องค่าเสียหายไม่ได้อยู่เอง โดยเหตุนี้ เงื่อนไขดังกล่าวจึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน เป็นโมฆะใช้ไม่ได้ จำเลยมีหน้าที่ต้องใช้เงินให้โจทก์ตามสัญญาท้ายฟ้อง
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามศาลขั้นต้น

Share