คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 133/2490

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทำสัญญาจำนำที่ดินก่อน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แล้วมอบที่ให้ผู้รับจำนำนั้น ถือว่าเป็นการขายฝาก
เมื่อรับว่า ได้ทำสัญญาขายฝากแล้ว แม้จะบังคับตามกฎหมายเก่า หรือตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็มีอายุความไถ่ไม่เกิน 10 ปี
ทำสัญญาขายฝากกันก่อน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การประกาศใช้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ไม่ทำให้นิติกรรมขายฝากนั้นกลายเป็นจำนำไปได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้เอาที่ดินของโจทก์ทำสัญญาจำนองแก่นายสุขนางเชื้อเป็นเงิน 640 บาท เมื่อ พ.ศ. 2464 และได้ให้ผู้รับจำนองเก็บผลประโยชน์ต่างดอกเบี้ยตลอดมา ต่อมาผู้รับจำนองวายชนม์ จำเลยเป็นผู้รับมรดก โจทก์ขอไถ่จำนอง จำเลยไม่ยอมให้ไถ่ขอให้ศาลบังคับ

จำเลยให้การต่อสู้ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอไถ่ถอนการจำนองรายนี้ เพราะสัญญามีกำหนดให้ไถ่ภายใน 3 ปี ถ้าไม่ไถ่ให้หลุดเป็นสิทธิ โจทก์ละเลยไม่ไถ่ภายในกำหนด ที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยมากว่าสิบปีและตัดฟ้องว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ปรับบทเป็นขายฝากตามกฎหมายเก่าตามประกาศเรื่องจำนำและขายฝากที่ดิน ร.ศ. 118 ข้อ 6 พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า คดีควรบังคับตามลักษณะจำนองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะภายหลังทำสัญญากันเพียง4 ปีเศษ ก็ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งโจทก์คงมีสิทธิไถ่ถอนได้อยู่

ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์รับอยู่แล้วว่า เมื่อทำสัญญาจำนำโจทก์จำเลยได้ปฏิบัติต่อกันอย่างขายฝากคือมอบที่ดินให้จำเลยทำกินต่างดอกเบี้ย ซึ่งตามกฎหมายเก่าถือว่าเป็นเรื่องขายฝาก เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้จะได้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในภายหลังก็หาทำให้สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยที่ปฏิบัติต่อกันกลายเป็นสัญญาจำนองตามกฎหมายใหม่ไม่ เมื่อยังเป็นขายฝาก อายุความไถ่ก็คงมีสิบปีเท่าเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 494(1) พิพากษายืนให้โจทก์แพ้คดี

Share