คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1326/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตาม ข้อบังคับของจำเลยกำหนดให้อำนาจผู้จัดการสาขาเป็นผู้อนุมัติให้พนักงานทำงานล่วงเวลาได้ การที่ผู้ช่วยผู้จัดการสาขามีคำสั่งให้โจทก์ไปทำงานล่วงเวลา ในวันที่ผู้จัดการสาขาไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่นั้น ถือ ว่าผู้ช่วยผู้จัดการสาขาสั่งในฐานะ ผู้จัดการสาขา เมื่อข้อบังคับของจำเลยมิได้กำหนดอำนาจผู้ช่วยผู้จัดการสาขาว่าผู้ช่วยผู้จัดการสาขาทำการแทนผู้จัดการสาขาจะสั่งการเกี่ยวกับการทำงานล่วงเวลาไม่ได้หรือจะต้อง ได้ รับมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนจึงจะสั่งได้ ดังนี้ผู้ช่วยผู้จัดการสาขาทำการแทนผู้จัดการสาขาจึงมีอำนาจสั่งให้โจทก์ไปทำงานล่วงเวลาได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยตำแหน่งพนักงานกฎหมาย 7 ประจำสาขากรุงเทพมหานคร มีหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธนาคารตลอดจนปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา ได้รับค่าจ้างเดือนละ13,310 บาท จำเลยกำหนดเวลาทำงานปกติตั้งแต่เวลา 8.30 นาฬิกาถึงเวลา 16.30 นาฬิกา วันเสาร์และอาทิตย์เป็นวันหยุด เมื่อวันที่29 มกราคม 2533 จำเลยได้มีคำสั่งให้โจทก์ไปช่วยบริการและรับเงินฝากที่งานประจำปีของวัดกาหลง ตำบลเปร็ง อำเภอบางบ่อจังหวัดสมุทรปราการ ในวันพุธที่ 30 มกราคม 2533 และวันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2533 ระหว่างเวลาประมาณ 14 นาฬิกาถึงเวลา 2นาฬิกา โจทก์ได้ปฏิบัติงานตามที่จำเลยสั่งโดยวันที่ 30 มกราคม2533 โจทก์ไปปฏิบัติงานรับเงินฝาก ตั้งแต่เวลา 15 นาฬิกา ถึงเวลา 1 นาฬิกา จึงมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตั้งแต่เวลา 16.30นาฬิกาถึง 1 นาฬิกา รวม 8 ชั่วโมงครึ่ง ในอัตราหนึ่งเท่าครึ่งของค่าจ้าง เป็นเงิน 807.50 บาท โจทก์ขอเบิกแล้วแต่จำเลยไม่ยอมจ่ายให้ขอให้จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาจำนวน 807.50 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า การที่พนักงานจะทำงานล่วงเวลาได้ ต้องได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจก่อนตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย กรณีสาขาผู้มีอำนาจอนุมัติได้คือผู้จัดการสาขาแต่ผู้เดียว ในวันที่ 30มกราคม 2533 นายโสมนัสส์ สุวรรณเมนะ ผู้จัดการสาขากรุงเทพมหานครของจำเลยไม่ได้อนุมัติให้โจทก์ไปทำงานรับเงินฝาก นายอำนาจสอนประจักษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการสาขากรุงเทพมหานคร ซึ่งสั่งให้โจทก์ไปปฏิบัติงาน ไม่ใช่ผู้มีอำนาจอนุมัติให้โจทก์ไปทำงานล่วงเวลาตามข้อบังคับของจำเลย โจทก์มาฟ้องเรียกค่าล่วงเวลาจากจำเลยเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 33 ข้อ 8(5)ยังได้กำหนดอีกว่าพนักงานที่เดินทางไปปฏิบัติงานนอกสำนักงานและมีสิทธิได้รับเบี้ยเลี้ยงเดินทางอยู่แล้ว ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามกฎหมายขอให้พิพากษายกฟ้อง
วันนัดพิจารณา จำเลยสละประเด็นข้อต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 33 ข้อ 8(5)และโจทก์จำเลยยอมรับว่านายอำนาจ สอนประจักษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการสาขากรุงเทพมหานครเป็นผู้สั่งให้โจทก์ไปปฏิบัติงานตามฟ้องและวันนั้นผู้จัดการสาขากรุงเทพมหานครไม่ได้มาปฏิบัติงานที่สาขาแต่ผู้จัดการสาขามิได้มอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้ช่วยผู้จัดการสาขาสั่งให้โจทก์ไปปฏิบัติงานได้ตามฟ้อง แล้วโจทก์จำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาจำนวน 807.50 บาทแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่านายโสมนัสส์ สุวรรณเมนะ ผู้จัดการสาขากรุงเทพมหานครมิได้มอบหมายให้โจทก์ไปปฏิบัติงานในวันที่ 30 มกราคม 2533 แม้นายอำนาจสอนประจักษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการสาขากรุงเทพมหานคร สั่งให้โจทก์ไปปฏิบัติงานในวันที่นายโสมนัสส์ผู้จัดการสาขาไม่ได้มาปฏิบัติงานก็ตาม คำสั่งดังกล่าวก็เป็นคำสั่งโดยไม่มีอำนาจและไม่ผูกพันจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา พิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามข้อบังคับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรฉบับที่ 33ว่าด้วยการจ่ายค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุด เอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 2 ได้กำหนดเรื่องนี้ไว้ในข้อ 3 ให้อำนาจแก่ผู้จัดการสาขาเป็นผู้อนุมัติให้ทำงานล่วงเวลาได้ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ในวันที่นายอำนาจผู้ช่วยผู้จัดการสาขากรุงเทพมหานครสั่งให้โจทก์ไปทำงานล่วงเวลานั้น นายโสมนัสส์ผู้จัดการสาขากรุงเทพมหานครไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ จึงถือว่าเป็นการสั่งในฐานะผู้จัดการสาขาถูกต้องตามข้อบังคับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ฉบับที่ 33 ว่าด้วยการจ่ายค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดแล้ว การที่จำเลยอุทธรณ์ว่านายอำนาจไม่มีอำนาจสั่งการแทนนายโสมนัสส์ผู้จัดการสาขากรุงเทพมหานครนั้น ไม่ปรากฏเหตุผลในอุทธรณ์ว่าเหตุใดจึงไม่มีอำนาจสั่งการแทนได้ ตามข้อบังคับของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรฉบับที่ 33 ว่าด้วยการจ่ายค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุด ก็ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับอำนาจของผู้ช่วยผู้จัดการสาขาไว้เลยว่า เมื่อผู้ช่วยผู้จัดการสาขาทำการแทนผู้จัดการสาขาจะสั่งการเกี่ยวกับการทำงานล่วงเวลาไม่ได้หรือจะต้องได้รับมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนจึงจะสั่งการได้ ศาลฎีกาเห็นว่าการที่นายอำนาจผู้ช่วยผู้จัดการสาขาทำการแทนผู้จัดการสาขาสั่งให้โจทก์ไปทำงานล่วงเวลา จึงมีอำนาจสั่งได้ตามข้อบังคับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรฉบับที่ 33 ข้อ 3 และมีผลผูกพันจำเลยผู้เป็นนายจ้าง ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาตามฟ้องชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share