คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1324/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีอาญา จำเลยอ้างพยานเอกสารซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยและโจทก์ไม่รับรองความถูกต้อง เมื่อจำเลยไม่สืบพยานประกอบ พยานเอกสารนั้นก็รับฟังไม่ได้ แต่ถ้าพยานเอกสารนั้นเป็นหนังสือราชการ ซึ่งต้นฉบับอยู่ในความครอบครองของ ทางราชการและที่จำเลยอ้างส่งต่อศาลเป็นสำเนาซึ่งเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(3) รับรองถูกต้อง ก็รับฟังได้ ไม่ต้องสืบพยานประกอบ
ตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2497 เป็นอำนาจของรัฐมนตรี ที่จะกำหนดสถานที่ที่จะใช้เป็นสถานีขนส่ง และต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อประกาศกำหนดสถานที่ที่จะใช้เป็นสถานีขนส่งแล้ว ผู้ประกอบการขนส่งจะต้องใช้สถานที่นั้นเป็นที่หยุดหรือจอดยานพาหนะ ถ้าฝ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 69 และอธิบดีมีอำนาจกำหนดค่าบริการที่ผู้ประกอบการขนส่งจะต้องชำระให้แก่สถานีขนส่งตามมาตรา 50(1) แต่ถ้ารัฐมนตรียังไม่ได้กำหนดสถานที่ให้เป็นสถานีขนส่งผู้ประกอบการขนส่งจัดหาสถานที่จอดพักรถโดยสารให้คนขึ้นลงได้เอง โดยไม่ให้ขัดขวางต่อการจราจร
เจ้าพนักงานจราจรมีอำนาจออกข้อบังคับหรือคำสั่งกำหนดสถานที่จอดพักรถได้ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 แต่ถ้าสถานที่จอดพักรถนั้นอยู่ในความครอบครองของเอกชนและเอกชนเป็นผู้เรียกเก็บค่าบริการในการจอดรถ ก็ไม่เป็นสถานที่จอดพักรถตามความหมายของพระราชบัญญัติจราจรทางบก แต่เป็นสถานีขนส่งตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2497 ซึ่งบัญญัติให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีเป็นผู้กำหนดสถานที่ที่ใช้เป็นสถานีขนส่ง เจ้าพนักงานจราจรไม่มีอำนาจกำหนด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยนำรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไปจอดพักรถและรับส่งคนโดยสาร ณ สถานที่อันมิใช่เป็นสถานที่ที่เจ้าพนักงานจราจรกำหนดให้เป็นที่จอดพักรถ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2477 มาตรา 66, 69 พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2481 มาตรา 4

จำเลยให้การปฏิเสธ

จำเลยแถลงรับว่าได้กระทำตามข้อเท็จจริงตามฟ้องโดยเจตนา แต่จำเลยมีสิทธิในฐานะเป็นผู้รับขนส่ง

โจทก์จำเลยแถลงรับว่าจำเลยเป็นผู้รับอนุญาตให้เป็นผู้ขนส่งประจำทางโดยรถยนต์

โจทก์จำเลยไม่สืบพยาน

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เจ้าพนักงานจราจรไม่มีอำนาจกำหนดที่จอดพักรถ คำสั่งเจ้าพนักงานจราจรไม่มีผลใช้บังคับกับรถยนต์ของจำเลยพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าประกาศของเจ้าพนักงานจราจรกำหนดสถานที่จอดพักรถมีผลบังคับได้ แต่ฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนากระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับและคำสั่งของเจ้าพนักงานจราจร จำเลยไม่ต้องรับผิดในทางอาญา พิพากษายืนในผลที่ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เอกสาร ล.1 อยู่ในความครอบครองของจำเลยและโจทก์ไม่รับรองความถูกต้อง เมื่อจำเลยไม่สืบพยาน พยานเอกสารฉบับนี้ก็รับฟังไม่ได้ แต่เอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 เป็นหนังสือราชการซึ่งต้นฉบับอยู่ในความครอบครองของทางราชการ ที่จำเลยอ้างส่งศาลเป็นสำเนาที่เจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(3) รับรองถูกต้องแล้ว จึงรับฟังได้เหมือนต้นฉบับ จำเลยไม่ต้องสืบพยานประกอบ

สถานีขนส่งตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2497 เป็นอำนาจของรัฐมนตรีที่จะกำหนดสถานที่ที่จะใช้เป็นสถานีขนส่งขึ้น และต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อประกาศกำหนดสถานที่ที่จะใช้เป็นสถานีขนส่งแล้ว ผู้ประกอบการขนส่งจะต้องใช้สถานที่นี้เป็นที่หยุดหรือจอดยานพาหนะ ถ้าฝ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 69 และตามมาตรา 50(1) อธิบดีมีอำนาจกำหนดค่าบริการที่ผู้ประกอบการขนส่งจะต้องชำระให้แก่สถานีขนส่ง แต่ถ้ารัฐมนตรียังไม่ได้กำหนดสถานที่ให้เป็นสถานีขนส่ง ทางราชการมีความมุ่งหมายให้ผู้ประกอบการขนส่งจัดหาสถานที่จัดพักรถโดยสารให้คนขึ้นลงเองได้โดยไม่ขัดขวางต่อการจราจร

ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก เจ้าพนักงานจราจรมีอำนาจออกข้อบังคับหรือคำสั่งกำหนดสถานที่จอดพักรถได้ แต่สถานที่ที่เจ้าพนักงานจราจรกำหนดให้เป็นที่จอดพักรถเพื่อรับส่งคนโดยสารอยู่ในที่ซึ่งอยู่ในความครอบครองของเอกชน และเอกชนได้เรียกเก็บค่าบริการในการจอดรถ ไม่ใช่เป็นที่จอดพักรถตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก แต่เป็นการกำหนดสถานที่ที่ใช้เป็นสถานีขนส่งตามพระราชบัญญัติการขนส่ง ซึ่งบัญญัติให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีเจ้าพนักงานจราจรไม่มีอำนาจกำหนด ฉะนั้น คำสั่งกำหนดสถานที่จอดพักรถจึงไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย แม้จำเลยจะฝ่าฝืนก็ไม่มีความผิด

พิพากษายืนในผลที่ให้ยกฟ้อง

Share