คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1322/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลมีอำนาจที่จะแยกการพิจารณาคดีอาญาออกจากคดีแพ่ง และพิพากษาคดีอาญาไปทีเดียวส่วนคดีแพ่งจะพิพากษาในภายหลังก็ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 42 วรรคสอง ฉะนั้นการที่โจทก์ถอนฟ้องคดีส่วนอาญาไป จึงหาทำให้คดีส่วนแพ่งระงับไปด้วยไม่
โจทก์จำเลยได้ตกลงกันตามรายงานกระบวนพิจารณาลงว่าจำเลยขอชำระเงินตามฟ้องให้โจทก์เพียง 170,000 บาท โดยจะชำระให้เสร็จภายใน 6 เดือนโจทก์ตกลงด้วย ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่ให้เสร็จไปด้วยโจทก์จำเลยยอมผ่อนผันให้แก่กัน ศาลชั้นต้นได้จดข้อความแห่งข้อตกลงของคู่ความดังกล่าวไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาและคู่ความได้ลงชื่อไว้แล้ว ข้อตกลงนั้นจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 และ 851แล้ว สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวนี้หาจำเป็นที่ศาลจะต้องบันทึกลงไว้ในแบบพิมพ์สัญญายอมความเสมอไปไม่ ฉะนั้นเมื่อปรากฏว่าคู่ความได้ตกลงประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดี ไม่มีข้อเท็จจริงอื่นที่ศาลจะต้องดำเนินการพิจารณาต่อไปแล้ว ศาลก็ชอบที่จะพิพากษาคดีไปได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทุจริตหลอกลวงโจทก์ว่าจำเลยมีที่ดินตกลงขายให้โจทก์ 110,000 บาท โจทก์มอบเงินมัดจำให้ 71,000 บาท จำเลยไม่สามารถมอบที่ดินให้โจทก์ได้ จำเลยยอมให้โจทก์เรียกค่าเสียหายเป็นค่าปรับ 5 เท่าของมัดจำ โจทก์ขอเรียกค่าปรับค่าคืนมัดจำ ค่าเสียหาย รวม 526,000 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และให้ใช้เงินจำนวนดังกล่าว ฯลฯ

จำเลยให้การปฏิเสธ ครั้นถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ คู่ความตกลงกันว่าจำเลยจะชำระเงินให้โจทก์ 170,000 บาท ภายในกำหนด 6 เดือนโดยจำเลยจะชำระให้โจทก์ครึ่งหนึ่งภายใน 90 วัน ส่วนที่เหลือจะชำระอีกภายใน 90 วัน ถ้าผิดนัดงวดแรกถือว่าผิดนัดทั้งหมด ศาลชั้นต้นได้จดรายงานข้อตกลงยินยอมของคู่ความไว้ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2508

เมื่อถึงกำหนดที่จำเลยจะต้องชำระเงินงวดแรก จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลว่าจำเลยไม่อาจนำเงิน 85,000 บาท มาชำระให้โจทก์ตามนัดได้เพราะในการประนีประนอมตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลนั้นจำเลยยังเข้าใจผิดในสารสำคัญของการประนีประนอมครั้งนั้นตามคำชี้แจงของทนายจำเลย จำเลยจึงขอถอนทนายจำเลยและขอเลื่อนคดีไปอีก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า พฤติการณ์ของจำเลยส่อไปทำนองประวิงคดี รายงานกระบวนพิจารณาที่ศาลจดข้อตกลงยินยอมของคู่ความไว้ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาแล้ว คดีส่วนแพ่งเป็นอันยุติให้รอคดีไว้ฟังผลทางคดีอาญาต่อไป ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องคดีส่วนอาญาศาลชั้นต้นสั่งอนุญาต ส่วนคดีส่วนแพ่งศาลชั้นต้นเห็นว่าคู่ความต่างตกลงยินยอมกันยุติไปแล้ว เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ตามข้อตกลง ถือว่าจำเลยผิดนัดไม่มีประเด็นจะต้องดำเนินคดีต่อไปให้จำหน่ายคดีอาญาเสีย แล้วพิพากษาว่า ข้อตกลงของคู่ความที่ศาลจดไว้ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2508 ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 138 คดีแพ่งเป็นอันยุติแล้ว จำเลยไม่มีข้อโต้แย้งที่จะยกขึ้นหักล้างข้อความนั้นได้พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 170,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2508

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ตามบทกฎหมายจะต้องคิดดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัด พิพากษาแก้ให้จำเลยใช้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2508

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งคดีส่วนอาญาและส่วนแพ่งหรืออีกนัยหนึ่งเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาคดีเช่นนี้ศาลย่อมมีอำนาจที่จะแยกการพิจารณาคดีอาญาออกจากคดีแพ่งและพิพากษาคดีอาญาไปทีเดียว ส่วนคดีแพ่งจะพิพากษาในภายหลังก็ได้ ตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 42 วรรค 2ฉะนั้น การที่โจทก์ถอนฟ้องคดีส่วนอาญาไป จึงหาทำให้คดีส่วนแพ่งระงับไปด้วยตามฎีกาของจำเลยไม่

จำเลยฎีกาข้อต่อไปว่า การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีส่วนแพ่งโดยพิเคราะห์คำฟ้องคำให้การและข้อตกลงของโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาให้จำเลยใช้เงินโจทก์โดยมิได้มีการสืบพยานนั้น ไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์จำเลยได้ตกลงกันตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2508 ว่า จำเลยขอชำระเงินตามฟ้องให้โจทก์เพียง 170,000 บาท โดยจะชำระให้เสร็จภายใน 6 เดือนโจทก์ตกลงด้วย ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่ให้เสร็จไปด้วยโจทก์จำเลยยอมผ่อนผันให้แก่กัน ศาลชั้นต้นได้จดข้อความแห่งข้อตกลงของคู่ความดังกล่าวไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาและคู่ความได้ลงชื่อไว้แล้ว ข้อตกลงนั้นจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 และ 851 แล้ว สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวนี้หาจำเป็นที่ศาลจะต้องบันทึกลงไว้ในแบบพิมพ์สัญญายอมความเสมอไปไม่ ฉะนั้น เมื่อปรากฏว่าคู่ความได้ตกลงประนีประนอมยอมความกัน ในประเด็นแห่งคดีไม่มีข้อเท็จจริงอื่นที่ศาลจะต้องดำเนินการพิจารณาต่อไปแล้ว ศาลก็ชอบที่จะพิพากษาคดีไปได้

พิพากษายืน

Share