คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1322/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขอแก้ฟ้องโดยเพิ่มวันกระทำผิด เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้วเป็นแต่แก้รายละเอียด จำเลยไม่หลงต่อสู้ ศาลอนุญาต
จำเลยขอให้ศาลไปดูที่เกิดเหตุ ศาลเห็นไม่จำเป็นก็งดได้ฎีกาในข้อที่เป็นดุลพินิจของศาล เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2499 ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2499 เวลากลางวันและกลางคืนจำเลยสมคบกับพวกที่ยังจับตัวไม่ได้ ลักลอบเล่นการพนันสลากกินรวบพนันเอาทรัพย์สินกัน โดยจำเลยกับพวกเป็นผู้จัดให้มีการเล่นขึ้นและจำเลยเข้าเล่นเป็นพวกเจ้ามือรับกินรับใช้ ทั้งนี้ จำเลยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานเหตุเกิดตำบลรองเมือง อำเภอปทุมวันจังหวัดพระนคร ต่อมาวันที่ 15 พฤศจิกายน 2499 เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยเอกสารสลากกินรวบ 5 ฉบับ ซึ่งเป็นของใช้ในการกระทำผิดดังกล่าว ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4, 10, 12 พระราชบัญญัติการพนัน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2485มาตรา 4 พระราชบัญญัติการพนัน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2490 มาตรา 3 และริบของกลาง

จำเลยให้การปฏิเสธข้อหาว่ามิได้ทำผิด และว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม

เมื่อสืบนายร้อยตำรวจเอก นิสสัย พยานโจทก์ไปได้คนหนึ่งแล้วโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องว่า ในเรื่องวันที่หาว่า จำเลยกระทำผิดเป็นว่าจำเลยกระทำผิดระหว่างตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2499 ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2499 กับขอแก้ในเรื่องเอกสารที่จับได้เป็นของกลางว่าจับเอกสารสลากกินรวบได้จากจำเลย 4 ฉบับและได้จากนายกวงเฮง แซ่อื้อ 1 ฉบับ

จำเลยคัดค้านว่า ไม่ควรให้แก้เพราะเป็นการแก้เพื่อให้ตรงกับคำเบิกความของพยาน ทำให้จำเลยเสียเปรียบ

ศาลชั้นต้นเห็นว่า ข้อที่โจทก์ขอแก้ฟ้องเป็นเพียงรายละเอียดประกอบฟ้อง ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบหรือหลงข้อต่อสู้ จึงอนุญาตให้แก้

เมื่อพิจารณาแล้ว ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องและฟ้องโจทก์ละเอียดชัดเจนพอที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว จึงพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4, 10, 12 พระราชบัญญัติการพนัน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2485 มาตรา 4 พระราชบัญญัติการพนัน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2490 มาตรา 3 ให้จำคุกจำเลย 4 เดือน ปรับ 2,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ของกลางริบ ให้จำเลยชำระค่านำจับแก่นายกวงเฮง ผู้แจ้งความนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับ

จำเลยอุทธรณ์ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และไม่ควรอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องเพราะทำให้จำเลยเสียเปรียบ อนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นงดไม่ไปเผชิญสืบ (ตรวจฐานที่เกิดเหตุ) ตามที่จำเลยอ้างไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ในที่สุดคัดค้านว่า พยานโจทก์แตกต่างขัดต่อเหตุผลและเอกสารฟังไม่ได้ว่า จำเลยกระทำผิด ขอให้ยกฟ้องหรือสั่งให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว เห็นว่าฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่า จำเลยกระทำผิดไว้โดยละเอียดแล้วพอที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องไม่เคลือบคลุม ส่วนการที่โจทก์ขอแก้ฟ้องนั้นเห็นว่า โจทก์ขอเพิ่มวันกระทำผิด เป็นการแก้รายละเอียดเกี่ยวกับเวลากระทำผิด และขอแก้ในระหว่างการพิจารณาการขอแก้เรื่องเอกสารที่จับได้ก็เพียงแต่แก้ข้อเท็จจริงประกอบฟ้องไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบอีกทั้งโจทก์ก็พึ่งสืบพยานไปได้เพียงคนเดียวจำเลยมีโอกาสนำพยานสืบหักล้างพยานโจทก์ได้ ทั้งตามข้อนำสืบของจำเลย ๆ ก็ไม่หลงข้อต่อสู้ประการใด ที่ศาลชั้นต้นเห็นมีเหตุสมควรและอนุญาตให้โจทก์แก้ได้ จึงชอบแล้ว ข้อที่ศาลชั้นต้นไม่ไปตรวจพิสูจน์สถานที่ตามที่จำเลยขอนั้นศาลอุทธรณ์เห็นว่า ไม่แน่ว่าฐานที่เกิดเหตุจะไม่ผิดเพี้ยนไปจากวันที่นายกวงเฮงไปยืนดู และการตรวจดูฐานที่ก็ไม่ใช่ข้อสำคัญที่จะทำให้ข้อวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไปศาลชั้นต้นสั่งงดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 174 วรรคท้าย ไม่ผิดกระบวนพิจารณา ส่วนข้อเท็จจริงนั้น ศาลอุทธรณ์ฟังเช่นเดียวกับศาลชั้นต้นว่า จำเลยได้กระทำผิดจริงตามฟ้อง ในที่สุดจึงพิพากษายืน

จำเลยฎีกาคัดค้านในข้อกฎหมายดังที่ได้คัดค้านไว้ในชั้นอุทธรณ์

ศาลฎีกานั่งฟังคำแถลงการณ์ด้วยวาจาของทนายจำเลย และได้ประชุมปรึกษาคดีนี้แล้ว คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงเช่นเดียวกันว่าจำเลยได้กระทำผิดตามโจทก์หา พิพากษาจำคุกจำเลย 4 เดือน กับปรับด้วย 2,000 บาท ฉะนั้น คดีจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 มิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า

1. ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะไม่ได้ระบุว่า จำเลยเล่นกับใคร ๆ เข้าเล่นบ้าง ทำให้จำเลยไม่เข้าใจข้อหาได้เลยและไม่มีโอกาสต่อสู้คดีได้เต็มที่

2. การที่โจทก์ขอแก้ฟ้องภายหลังที่โจทก์สืบนายร้อยตำรวจเอกนิสสัยไปแล้วนั้น ทำให้จำเลยเสียเปรียบเพราะไม่มีโอกาสซักค้านนายร้อยตำรวจเอกนิสสัย ตามประเด็นที่โจทก์ขอแก้ จึงไม่มีเหตุผลสมควรที่ศาลจะอนุญาตให้แก้

3. การที่ศาลงดไม่ไปตรวจฐานที่เกิดเหตุนั้น ไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา เพราะไม่เปิดโอกาสให้จำเลยต่อสู้คดีได้เต็มที่

ศาลฎีกาพิเคราะห์ฎีกาของจำเลยเห็นว่า ที่จำเลยว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่ระบุว่าเล่นกับใคร ๆ เล่นบ้างนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่า จำเลยได้กระทำพอสมควร ที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดีแล้วว่า จำเลยถูกหาว่าเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันสลากกินรวบ และเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม ส่วนข้อเท็จจริงว่าเล่นกับใคร ๆเล่นบ้างนั้นเป็นรายละเอียดที่นำสืบภายหลังได้ ฎีกาจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น

ที่จำเลยคัดค้านว่า ไม่มีเหตุอันสมควรที่ศาลจะอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องนั้น เห็นว่า การที่โจทก์ขอแก้เพิ่มวันกระทำผิดก็ดี ขอแก้การจับเอกสารได้จากจำเลยเพียง 4 ฉบับ แทนที่จะเป็น 5 ฉบับก็ดีเป็นการแก้รายละเอียดเท่านั้น เมื่อโจทก์ร้องขอแก้ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 164 มิให้ถือว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบ เว้นแต่จำเลยได้หลงข้อต่อสู้ในข้อที่ผิดนั้นซึ่งคดีนี้จำเลยหาได้หลงข้อต่อสู้ไม่ และเมื่อมีเหตุอันควร ศาลชั้นต้นก็มีอำนาจให้โจทก์แก้ฟ้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น

ส่วนฎีกาข้อ 3 ที่คัดค้านว่า ศาลชั้นต้นไม่ไปเผชิญสืบดูสถานที่เกิดเหตุเป็นการไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณานั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นไม่ไปดูที่พิพาทเพราะเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ไม่จำต้องไปตรวจบันทึกสถานที่เกิดเหตุนั้น ศาลชั้นต้นมีอำนาจใช้ดุลพินิจสั่งเช่นนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 174 วรรค 4ฎีกาในข้อนี้จึงเป็นฎีกาในดุลพินิจของศาล เป็นปัญหาในข้อเท็จจริงฎีกาไม่ได้

ฉะนั้น จึงพิพากษาให้ยกฎีกาจำเลยเสียโดยพิพากษายืน

Share