คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1320/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยหมิ่นประมาทโจทก์ด้วยการใส่ความทำหนังสือร้องเรียนกล่าวหาโจทก์ แล้วส่งไปโฆษณาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ จำเลยให้การว่า จำเลยได้ร้องเรียนจริง โดยส่งคำร้องเรียนไปลงหนังสือพิมพ์ด้วยความสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับจำเลยตามคลองธรรมและเพื่อประโยชน์แก่ประชาชน ข้อความที่ร้องเรียนเป็นความจริง ขอพิสูจน์ความจริง ดังนี้เท่ากับจำเลยต่อสู้ว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิด และเพื่อมิให้จำเลยต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 329 (1) และมาตรา 330 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เป็นคำให้การปฏิเสธ
เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธความผิด ศาลจะต้องฟังข้อเท็จจริงจากการนำสืบของโจทก์จำเลยเสียก่อนจึงจะวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้ การที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานของโจทก์จำลยแล้ววินิจฉัยชี้ขาดว่าจำเลยกระทำความผิดไปทีเดียว จึงเป็นการที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องความว่า จำเลยบังอาจหมิ่นประมาทด้วยการใส่ความโจทก์ โดยทำหนังสือร้องเรียนต่ออธิบดีกรมตำรวจกล่าวหาว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีส่วนได้เสียกับบุคคลอื่นจัดให้มีการเล่นการพนัน ฯลฯ ซึ่งเป็นความเท็จ แล้วส่งหนังสือนั้นไปลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖, ๓๒๘
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วสั่งคดีมีมูล
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ร้องเรียนต่ออธิบดีกรมตำรวจ แล้วส่งไปลงหนังสือพิมพ์ตามข้อความในคำฟ้องจริง แต่ข้อความที่ร้องเรียนเป็นความจริง จำเลยร้องเรียนโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับจำเลยและตามคลองธรรมและเพื่อประโยชน์ส่วนรวมแก่ประชาชน จำเลยขอพิสูจน์ว่า ตามที่จำเลยร้องเรียนต่ออธิบดีกรมตำรวจนั้นเป็นความจริง
ศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์จำเลย แล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖, ๓๒๘ ให้ลงโทษตามมาตรา ๓๒๘ ซึ่งเป็นบทหนัก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ปรับ ๔๐๐ บาท คำขออื่นยก โดยวินิจฉัยว่า การที่จำเลยได้โฆษณาข้อความตามฟ้องลงในหนังสือพิมพ์เสียงราษฎร์ เป็นการส่อเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์ เพื่อให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชังโดยตรง หาใช่เป็นความชอบธรรมของจำเลยที่จำเลยจะพึงกระทำไม่ จำเลยจึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาท แต่การที่จำเลยจะขอพิสูจน์ความจริงนั้น หาเป็นประโยชน์แก่ประชาชนไม่
จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่ควรมีความผิด เพราะกระทำไปโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๙ และการที่จำเลยโฆษณาหนังสือพิมพ์ ไม่ใช่เป็นการส่วนตัว แต่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน จำเลยจึงพิสูจน์ความจริงได้ ขอให้ยกฟ้อง หรือให้จำเลยพิสูจน์ความจริง
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่หาว่าโจทก์เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ความคุ้มกันไม่จับกุมผู้เล่นการพนันโปปั่น และมีส่วนได้ค่าต๋งจากผู้จัดการเล่น มิใช่เป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์ความจริงย่อมเป็นประโยชน์แก่ประชาชน พิพากษายกฟ้องคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไปแล้วพิพากษาใหม่
โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยนำข้อความไปโฆษณาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ เป็นการส่อเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์ หาใช่ความชอบธรรมที่จำเลยจะพึงกระทำ และไม่เป็นประโยชน์ที่ประชาชนอื่น ๆ จะพึงได้รับ ขอให้ลงโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้จำเลยให้การต่อสู้คดีว่า จำเลยได้ร้องเรียนจริง โดยส่งคำร้องเรียนไปลงหนังสือพิมพ์ด้วยความสุจริต เพื่อความชอบธรรมป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับจำเลยตามคลองธรรม และเพื่อประโยชน์แก่ประชาชน ข้อความที่ร้องเรียนเป็นความจริง ซึ่งเป็นข้อต่อสู้ว่า จำเลยไม่ได้กระทำผิดพแลเพื่อมิให้จำเลยต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๙ (๑) และมาตรา ๓๓๐ เท่ากับจำเลยให้การปฏิเสธว่ามิได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ ศาลจะต้องฟังข้อเท็จจริงจากการนำสืบของโจทก์จำเลยเสียก่อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๗๒ แล้วจึงจะวินิจฉัยชี้ขาดได้ว่า จำเลยกระทำผิดจริงหรือไม่ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาใหม่ชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share