คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1319/2517

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันจะชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1ในเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ในระหว่างระยะเวลาที่จำเลยที่ 2 ค้ำประกัน เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ภายหลังระยะเวลาดังกล่าว โจทก์ก็ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเป็นตัวแทนจำหน่ายรถแทรกเตอร์ของโจทก์ และยอมตนเข้าค้ำประกันสัญญาซื้อขาย สัญญาเช่าซื้อที่ผู้แทนจำหน่ายเป็นผู้ขายหรือติดต่อ จำเลยที่ 2 ยอมตนเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ในวงเงิน 200,000 บาท จำเลยที่ 1 ติดต่อแนะนำจำเลยที่ 3, 4, 5 เข้าทำสัญญาเช่าซื้อรถแทรกเตอร์กับโจทก์ มีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาจำเลยที่ 3, 4, 5 ผิดนัดไม่ชำระเงินค่าเช่าซื้อ จำเลยที่ 3, 4, 5 ต้องชำระเงินให้โจทก์เป็นเงิน 199,704 บาท ขอให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันใช้ให้โจทก์และร่วมกันใช้ค่าเสียหายจนกว่าโจทก์จะได้รับรถแทรกเตอร์คืนหรือรับใช้ราคา

จำเลยที่ 1, 3, 4 และ 5 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้หลายประการ และให้การด้วยว่าสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำมีกำหนด 1 ปี เมื่อไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1ผิดนัดชำระเงินในระหว่างอายุหนังสือค้ำประกัน ทั้งการผิดนัดส่งค่าเช่าซื้อภายหลังครบกำหนดอายุสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2 แล้วจึงอยู่นอกเหนือความรับผิดของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 มิได้เป็นคู่กรณีหรือมีส่วนรู้เห็นในสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3, 4, 5 และที่ 1 การผิดนัดได้เกิดขึ้นภายหลังอายุสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 2,500 บาทตั้งแต่วันผิดนัดตามสัญญาซื้อ (โดยหักเงินที่ชำระแล้วบางส่วนในเดือนที่ผิดนัดตามที่ปรากฏในฟ้องออกก่อน) เป็นต้นไป จนถึงวันส่งมอบรถคืนแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15ต่อปีในต้นเงินค่าเสียหายที่ค้างชำระ ให้จำเลยที่ 1 และ 2 ร่วมรับผิดใช้เงินดังกล่าวนี้ด้วย แต่จำเลยที่ 2 รับผิดในวงเงินไม่เกินสองแสนบาท

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 4 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ถึงวันที่โจทก์ได้รับรถแทรกเตอร์คืนจากจำเลยที่ 4 ให้จำเลยที่ 3, 5 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ถึงวันที่จำเลยที่ 3 และ 5 ส่งมอบรถแทรกเตอร์คืนโจทก์หรือใช้ราคารถแทรกเตอร์แก่โจทก์คันละ 20,000 บาท แทนการส่งมอบรถคืน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากับโจทก์รับเป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ ของโจทก์ เมื่อมีผู้จะมาซื้อหรือเช่าซื้อสินค้าจากบริษัทโจทก์ จำเลยที่ 1 จะต้องเป็นผู้ค้ำประกันและมีธนาคารค้ำประกันให้อีกในวงเงินไม่เกิน 200,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.4 จำเลยที่ 1 ได้ให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันในวงเงินนี้โดยจำเลยที่ 2 ทำหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไว้ให้โจทก์ มีอายุค้ำประกัน 12 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2510 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2510 ตามเอกสารหมาย จ.5 ต่อมาวันที่ 13 กันยายน 2510 จำเลยที่ 1 พาจำเลยที่ 3, 4 และ 5 มาทำสัญญาเช่าซื้อรถแทรกเตอร์จากโจทก์ไปคนละคันในราคาคันละ 86,000 บาท กำหนดผ่อนชำระกันเป็นรายเดือน ปรากฏรายการชำระเงินท้ายสัญญาตามเอกสาร จ.6 จ.7 และ จ.8 ซึ่งครบกำหนดงวดสุดท้ายในวันที่ 1 ธันวาคม 2511 จำเลยที่ 3, 4 และ 5 ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อเรื่อยมา ต่อมาจำเลยที่ 3 ผิดนัดงวดที่ 6 แต่วันที่ 1 มีนาคม 2511 จำเลยที่ 4 ผิดนัดงวดที่ 7 แต่วันที่ 1 เมษายน 2511 จำเลยที่ 5 ผิดนัดงวดที่ 5 แต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2511 และโจทก์ทวงถามค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ และยึดรถแทรกเตอร์คืนจากจำเลยที่ 4 ได้มาคันเดียว โจทก์จึงขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผิดใช้เงินค่าเช่าซื้อและค่าเสียหาย

พิจารณาแล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่าเมื่อจำเลยที่ 3, 4 และ 5 มาทำสัญญาเช่าซื้อรถแทรกเตอร์กับโจทก์โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ค้ำประกันแล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดใช้เงินแทนให้โจทก์ เพราะหนี้ที่จำเลยที่ 1ไม่ชำระได้กระทำขึ้นในระหว่างอายุสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2นั้น เห็นว่าหนังสือสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2 ที่ทำไว้ก็เพื่อที่จะชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ในเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ในระหว่างระยะเวลาที่จำเลยที่ 2 ค้ำประกันไว้คือระหว่างวันที่ 1มกราคม 2510 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2510 กรณีนี้ปรากฏว่าจำเลยที่ 1ผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตามที่จำเลยที่ 1 ค้ำประกันไว้แต่เดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม และเมษายน 2511 จึงเห็นได้ว่าการผิดนัดเกิดขึ้นภายหลังที่อายุสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2 ได้สิ้นสุดลงแล้ว แม้จำเลยที่ 1 จะได้ทำสัญญาผูกพันเพื่อให้จำเลยที่ 2 รับผิดภายในอายุสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2 แต่เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ผิดนัดต้องชำระหนี้ให้โจทก์ภายในอายุสัญญาค้ำประกันดังกล่าว และสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2 ได้สิ้นสุดลงตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ชัดแจ้งในสัญญาแล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์”

พิพากษายืน

Share