คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1315/2495

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยตกลงปราณีประนอมยอมความกันต่อศาล และศาลพิพากษาตามยอมว่าที่ดินตามหนังสือสัญญาซื้อขายด้านกว้างยาวและทิศติดต่อปรากฎตามหนังสือสัญญาซื้อขายตามบัญชีท้ายคำร้องรวมเป็นเนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 45 วา เป็นกรรมสิทธิของโจทก์ เหลือที่ดินนอกสัญญาซื้อขายให้เป็นกรรมสิทธิกับจำเลยต่อไป แต่มิได้มีการทำแผนที่ในคดีไปตามข้อตกลงของคู่ความ หาได้พิพากษาแสดงกรรมสิทธิของจำเลยว่ามีอยู่แค่ไหนเพียงไรไม่ ฉะนั้นเมื่อปรากฎว่าเนื้อที่ตามสัญญาซื้อขายที่ยอมความกันนั้น เจ้าพนักงานลงเนื้อที่ผิดไป โจทก์ได้ขอให้แก้เสียใหม่ให้ถูกต้องเป็นเนื้อที่ 6 ไร่ 2 งาน 46 วา แล้วโจทก์ได้ซื้อที่ดินแปลงนี้มาจากมารดาจำเลย แล้วสามีโจทก์กับโจทก์ได้ปกครองที่แปลงนี้ ต่อมาจำเลยมาขัดขวางสิทธิโดยไปร้องขอจัดการมรดกมารดาจำเลย ขอให้แสดงว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ซึ่งปรากฎในคดีก่อนนั้นเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงขอให้ศาลแสดงว่าที่ดินพิพาทนี้ เป็นมรดกของสามีโจทก์ตกเป็นของโจทก์และบุตร ได้

ย่อยาว

เดิมนายสมานร้องขอจัดการมรดกนางหะลีเยาะผู้มารดา และขอให้ศาลแสดงว่าที่ดินหมายเลข ๑, ๒, ๓ เป็นของผู้ร้อง
นางลุยอาโมยร้องคัดค้าน และแถลงว่าถ้าผู้ร้องตกลงยอมให้ที่ดินกับผู้คัดค้านตามสัญญาซื้อขาย ๒ ฉะบับตามบัญชีท้ายคำร้องคัดค้านแล้ว ผู้คัดค้านก็ไม่ติดใจค้านต่อไป ผู้ร้องก็ยอมให้ ศาลจึงดำเนินการพิจารณาต่อไป ระหว่างนั้นผู้คัดค้านไปขอตรวจต้นฉะบับสัญญาซื้อขายที่อำเภอปรากฎว่า ที่ดินอันดับ ๒ ตามสัญญาซื้อขายลงวันที่ ๔ เม.ย. ๗๘ มีเนื้อที่ ๖ ไร่ เศษ ไม่ใช่ ๒ ไร่เศษ ดังในสัญญาท้ายคำร้องคัดค้าน ผู้ค้ดค้านจึงขอให้อำเภอแก้หนังสือสัญญาให้ตรงกับต้นฉะบับที่อำเภอ แล้วมาฟ้องนายสมานผู้ร้อง เป็นคดีนี้ขึ้น ต่อมาศาลได้พิพากษาในคดีเดิมให้นายสมานเป็นผู้จัดการมรดก และพิพากษาให้ที่ดินตามสัญญาซื้อขายลงวันที่ ๔ เม.ย. ๗๘ เนื้อที่และเขตติดต่อตามสัญญาที่ยังไม่แก้ไขเป็นของผู้คัดค้าน ๒ ไร่เศษ นอกนั้นเป็นของผู้ร้อง คดีถึงที่สุดศาลฎีกาตัดสินว่า ผู้คัดค้านตั้งประเด็นคัดค้านเฉพาะเนื้อที่ส่วนหนึ่งตามบัญชีท้ายคำร้อง เมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งแล้ว ก็ไม่มีอะไรต้องวินิจฉัยอีก การที่จะอ้างข้อผิดพลาดของตนในคำร้องคัดค้านและคำแถลงต่อศาลมาเป็นข้ออุทธรณ์ฎีกานั้น ไม่ได้ จึงยกฎีกาผู้คัดค้าน (ฎีกาที่ ๙๔๖/๒๔๙๐)
ในคดีที่ผู้คัดค้านมาฟ้องใหม่นี้ อ้างว่าโจทก์กับสามีได้ซื้อที่ดินครอบครองมากว่า ๑๐ ปี สามีโจทก์ตาย โจทก์จัดการมรดกและได้รับมรดกร่วมกับบุตร จำเลยร้องขอให้ศาลแสดงว่าที่ดินเป็นของมารดาจำเลย เป็นการละเมิดสิทธิโจทก์ โจทก์ขอให้ศาลแสดงว่าที่ดินรายนี้เป็นมรดกของสามีตกเป็นของโจทก์และบุตร อย่าให้จำเลยเกี่ยวข้อง และเรียกค่าเสียหาย ๑๐๐๐ บาท
จำเลยให้การว่า ที่ดินหมายเลข ๒ – ๓ เป็นโจทก์ได้ร้องคัดค้านและประนีประนอมยอมความกันไปแล้วในคดีก่อน สิทธิของโจทก์ย่อมหมดไป โจทก์กับพวกสมคบกันแก้ไขสัญญาซื้อขายเดิม
ศาลสั่งทำแผนที่วิวาท สอบถามคู่ความแล้วศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยาน แล้วพิพากษาว่าที่ดินแปลงหมายเลข ๒ – ๓ เป็นที่ถกเถียงกัน ที่ยื่นคำร้องคัดค้านในคดีเดิม ซึ่งมีประเด็นเดียวกับคดีนี้ คู่ความเดียวกัน เมื่อคดีเดิมถึงที่สุดแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษาว่า คดีมไม่เข้ามาตรา ๑๔๘ ป.ม.วิ.แพ่ง เพราะโจทก์ยื่นฟ้องก่อนที่คดีเดิมได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด
ส่วนตามมาตรา ๑๔๕ ป.ม.วิ.แพ่ง แม้คิดเรื่องก่อนศาลชั้นต้นจะพิพากษาให้ที่ดิน ๒ แปลงเป็นกรรมสิทธิแก่ผู้คัดค้านคือโจทก์ เหลือที่ดินนอกสัญญาซื้อขายให้เป็นกรรมสิทธิแก่ผู้ร้องคือ จำเลยก็ดี ก็เป็นการพิพากษาคดีตามข้อตกลงของคู่ความ หาได้พิพากษาแสดงกรรมสิทธิของจำเลยว่ามีอยู่แค่ไหนเพียงไรไม่ แม้แต่แผนที่วิวาทในคดีเดิมก็ไม่ได้ทำขึ้น และถึงแม้ที่ดินในคดีนี้จะเป็นที่ดินตามสัญญาซื้อขายเดิม แต่ก็เป็นสัญญาที่ได้แก้ไขใหม่ ศาลฎีกาเห็นว่าการอ้างสัญญาซื้อขายเดิมและที่ตกลงกันตามสัญญาที่ยังไม่แก้ไขนั้น เป็นแต่เพียงเพื่อให้รู้ถึงจำนวนเนื้อที่ดินที่ตกลงกันให้เป็นของโจทก์ในขณะนั้น นอกจากนั้นในคดีเรื่องก่อน ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านคือโจทก์ ตั้งประเด็นมาเฉพาะเนื้อที่ส่วนหนึ่งตามบัญชีท้ายคำร้องคัดค้านเช่นนั้น ที่พิพาทในคดีนี้เป็นที่ดินนอกออกไปจากที่กล่าวแล้ว จึงไม่ต้องด้วยมาตรา ๑๔๕ โจทก์มีอำนาจฟ้องได้
จึงพิพากษาคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้พิจารณาใหม่ แล้ว พิพากษาตามรูปความ

Share