คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1313/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีที่จำเลยถูกฟ้องในข้อหายักยอกนั้น ปัญหาที่ว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตหรือไม่ หรือจำเลยเบียดบังเอาทรัพย์ของโจทก์ไว้เป็นของตนโดยทุจริตหรือไม่ เป็นปัญหาข้อเท็จจริง
เมื่อศาลอุทธรณ์รับอุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหาข้อกฎหมายไว้พิจารณา การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายศาลอุทธรณ์จะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ดังนั้นเมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่มีเจตนาทุจริตจะเบียดบังทรัพย์ของโจทก์ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยเบียดบังเอาทรัพย์ของโจทก์ไว้เป็นของตนโดยทุจริต จึงเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ขัดกับข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมา ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 194

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้รับมอบหมายให้เก็บเงินเบี้ยประกันจากผู้เอาประกันของโจทก์เมื่อเก็บได้แล้ว จำเลยเบียดบังเงินนั้นไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวเป็นเงิน ๑๙,๒๒๐ บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒, ๓๕๓, ๓๕๔, ๙๐
ศาลแขวงขอนแก่นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลแขวงขอนแก่นวินิจฉัยว่า จำเลยไม่มีเจตนาทุจริตที่จะเบียดบังทรัพย์ของโจทก์ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษาว่า จำเลยเบียดบังเอาทรัพย์ของโจทก์เป็นของตนโดยทุจริต ลงโทษจำคุกจำเลย ๑ ปี ๖ เดือน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ แต่หนังสือรับสารภาพหนี้ที่จำเลยทำให้โจทก์ไว้เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้ ๑ ใน ๓ ตามมาตรา ๗๘ คงจำคุก ๑ ปี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๒๒ เมื่อศาลอุทธรณ์รับอุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหาข้อกฎหมายไว้พิจารณา การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในท้องสำนวนศาลแขวงขอนแก่นวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่มีเจตนาทุจริตที่จะเบียดบังเอาทรัพย์ของโจทก์ ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้เบียดบังเอาทรัพย์ของโจทก์ไว้เป็นของตนโดยทุจริต จึงเป็นการฟังข้อเท็จจริงนอกเหนือจากที่ศาลแขวงขอนแก่นวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๔
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share