แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาล และศาลพิพากษาตามยอมแล้ว ถ้าโจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้องก็ชอบที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมดังกล่าวได้หากเข้ากรณีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 เมื่อโจทก์ไม่อุทธรณ์จนคดีถึงที่สุดไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคล มีโจทก์ที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1และเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 409/2529ของศาลชั้นต้น ระหว่างจำเลยที่ 1 กับพวกเป็นโจทก์ โจทก์ที่ 1กับพวกเป็นจำเลย จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ในการทำยอมความจำเลยที่ 3 เป็นทนายความในคดีดังกล่าว เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2529 จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันฟ้องโจทก์ทั้งสาม ต่อมาวันที่ 6 ตุลาคม 2529 โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสามทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นจำเลยทั้งสามในคดีดังกล่าวยอมร่วมกันชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าว จำนวน 18,804,098.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยโจทก์ทั้งสามจะชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 4 ปี นับแต่วันทำยอม ตามข้อสัญญาดังกล่าวโจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสามได้ตกลงกันเป็นพิเศษ มิให้ถือตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว โดยตกลงกันว่า จำเลยทั้งสามในคดีนี้ยอมให้โจทก์ทั้งสามในคดีนี้ชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 6 ปี โจทก์ทั้งสามได้ขอชำระหนี้แล้ว แต่จำเลยที่ 1 ปฏิเสธอ้างว่าโจทก์ทั้งสามผิดสัญญา แล้วยึดทรัพย์โจทก์ทั้งสามทำให้โจทก์ทั้งสามเสียหายสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวตกเป็นโมฆะไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 เนื่องจากเป็นนิติกรรมอำพรางและเป็นกลฉ้อฉลเพราะโจทก์ทั้งสามเป็นหนี้จำเลยที่ 1 เพียง 17 ล้านบาทเศษเท่านั้นแต่จำเลยทั้งสามกลับนิ่งเฉยไม่ให้ข้อความจริง ขอให้พิพากษาว่าสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 6 ตุลาคม 2529 และคำพิพากษาตามยอมคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 409/2529 ของศาลชั้นต้นเป็นโมฆะ
ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้องแล้ว เห็นว่า เมื่อโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และศาลพิพากษาตามยอมแล้ว โจทก์มีสิทธิเพียงอุทธรณ์ตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น โจทก์จะนำคดีมาฟ้องขอเพิกถอนสัญญายอม และคำพิพากษาตามยอมไม่ได้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามว่าโจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสามฎีกาว่าสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 6 ตุลาคม 2529 และคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 409/2529 ของศาลชั้นต้นเป็นโมฆะคู่ความไม่มีเจตนาจะบังคับกันตามสัญญาประนีประนอมยอมความแต่มีการตกลงจะบังคับกันเป็นพิเศษดังที่โจทก์ทั้งสามกล่าวมาในฟ้องแต่จำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงกัน สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวเป็นนิติกรรมอำพรางและเป็นกลฉ้อฉลโจทก์ทั้งสามจึงมีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่าเมื่อโจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาลและศาลพิพากษาตามยอมแล้ว หากโจทก์ทั้งสามเห็นว่าไม่ถูกต้องก็อาจจะอุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมดังกล่าวได้หากเข้ากรณีตามมาตรา 138 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเมื่อโจทก์ทั้งสามไม่อุทธรณ์และคดีถึงที่สุดไปแล้ว โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิจะฟ้องร้องขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความได้คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์ทั้งสามอ้างมานั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน