คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1310/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจรับกุมโจทก์ในข้อหาว่านำปลาทูสดเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้เสียภาษีเพราะจำเลยไม่ทราบว่ามีกฎหมายยกเว้นภาษี โจทก์ชี้แจงว่าไม่ต้องเสียภาษี จำเลยก็ไม่รับฟัง นำโจทก์ไปควบคุมตัวไว้โจทก์ขอขายปลาทูสดเพื่อบรรเทาความเสียหาย จำเลยทั้งสามอนุญาตแล้ว คนของโจทก์ฉีดน้ำเพื่อละลายน้ำแข็งที่แช่ปลาออก ครั้นรุ่งเช้าจำเลยทั้งสามกลับสั่งอายัดไม่ยอมให้ขายจนเวลา 10 นาฬิกา ล่วงเลยเวลาซื้อขายปลาสดตามปกติแล้วจึงอนุญาตให้ขาย เป็นเหตุให้โจทก์ต้องขายปลาไปในราคาถูก ดังนี้ ถือว่าจำเลยกระทำด้วยความประมาทเลินเล่อต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายย่อมเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งสามต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์
เมื่อการละเมิดของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เกิดขึ้นในการปฏิบัติการตามหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าสังกัดจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ขอใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 วรรคแรก
ศาลพิพากษาให้จำเลยเสียค่าขึ้นศาลแทนโจทก์ตามจำนวนทุนทรัพย์ที่ฟ้องมิใช่เพียงเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีนั้นเป็นดุลพินิจของศาลที่จะกำหนดได้ โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการต่อสู้คดีหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง สำหรับคดีนี้ศาลพิเคราะห์แล้วยังไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่กำหนดค่าขึ้นศาลดังกล่าวให้เป็นอย่างอื่น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคล จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ เป็นเจ้าพนักงานที่ตำรวจสังกัดจำเลยที่ ๑ เวลาประมาณ ๒๐ นาฬิกา จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ได้ทำการจับกุมตัวโจทก์ข้อหานำปลาทูสดเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้รับอนุญาตโจทก์ชี้แจงว่าโจทก์ซื้อมาจากสาธารณรัฐเวียตนามใต้ กฎหมายยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีจำเลยทั้งห้าไม่รับฟัง โจทก์ขอขายปลาทูสดเพื่อบรรเทาความเสียหาย จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ยินยอม โจทก์สั่งให้คนของโจทก์ฉีดน้ำเข้าเรือเพื่อละลายน้ำแข็งที่แช่ปลาออกเพื่อสะดวกในการนำปลาออกขายในวันรุ่งขึ้น ครั้นรุ่งขึ้นเวลาเช้าจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ สั่งอายัดปลาทูสดไว้ห้ามขาย เวลา ๑๐ นาฬิกา จำเลยทั้งสามจึงอนุญาตให้ขายได้ แต่ล่วงเลยเวลาการซื้อขายปลาสดแล้ว โจทก์ไม่สามารถขายได้ตามราคาปกติทั้งจะเก็บไว้ก็ไม่ได้เพราะน้ำแข็งละลายหมดแล้ว โจทก์จึงต้องขายให้แก่นายอุดมไปในราคาถูก ทำให้ขาดรายได้ไป ๑๒๕,๐๐๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียม
จำเลยทั้งหกให้การว่า จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ สืบทราบว่าโจทก์นำสินค้าหลบหนีภาษีมาจากสาธารณรัฐเวียตนามใต้ จึงจับกุมโจทก์ ที่โจทก์ขายปลาให้นายอุดมเป็นราคาพอสมควรแล้วโจทก์ไม่เสียหาย จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ กระทำการไปตามหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ จำเลยที่ ๕ ที่ ๖ ทำตามคำสั่งและคำกล่าวโทษของจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ จึงไม่ต้องรับผิด
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาว่าการกระทำของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์นั้น ประเด็นข้อนี้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ต่างเบิกความรับว่าจำเลยกับพวกได้ทำการจับกุมและยึดเรือของโจทก์พร้อมด้วยปลาทูไว้ ในข้อหาปลาทูเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้เสียภาษี เพราะจำเลยไม่ทราบว่ามีกฎหมายยกเว้นภาษีสำหรับสินค้าปลาทูสด และคดีกล่าวหาโจทก์ดังกล่าวพนักงานสอบสวนสั่งไม่ฟ้องโจทก์ไปแล้วศาลฎีกาเห็นว่า ตามพฤติการณ์ที่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ กระทำแก่โจทก์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่อต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย หากการกระทำของจำเลยเหล่านั้นกระทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ก็ย่อมเป็นการละเมิดต่อโจทก์และจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น จำเลยจะอ้างว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายหาได้ไม่ เหตุที่โจทก์ทำการขายปลาไม่ได้ตามกำหนดเพราะถูกจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ กับพวกทำการตรวจค้นเรือและสินค้าปลาของโจทก์ ซึ่งตามเอกสารหมาย ล.๒ ปรากฏว่าจำเลยกับพวกได้ทำการตรวจค้นอยู่จนถึงเวลา ๑๐.๑๕ นาฬิกา จำเลยที่ ๒ เองก็เบิกความรับว่า การขายปลาที่สะพานปลาสมุทรสาครขายกันในระหว่าง ๗ นาฬิกา ถึง ๙ นาฬิกา การที่โจทก์ขายปลาได้ราคาต่ำกว่าปกติ จึงต้องถือว่าเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลย จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์
จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องร่วมรับผิดด้วยนั้น ประเด็นข้อนี้ชั้นเดิมโจทก์บรรยายฟ้องให้จำเลยที่ ๑ ร่วมรับผิดในฐานะที่เป็นนายจ้างของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ต่อมาโจทก์ได้ยื่นคำร้องลงวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๑๗ ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเป็นว่าจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ เป็นเจ้าหน้าที่สังกัดกรมตำรวจจำเลยที่ ๑ และเป็นผู้มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบ หรือข้อบังคับตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ในฐานะเป็นนิติบุคคลจึงต้องร่วมรับผิด ในผลแห่งละเมิดของจำเลยซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่ไปในกรอบวัตถุประสงค์ของจำเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ในข้อนี้ ถือว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าวตามฟ้องโจทก์แล้ว ฉะนั้นเมื่อการละเมิดของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ เกิดขึ้นเนื่องในการปฏิบัติการตามหน้าที่ จำเลยที่ ๑ เจ้าสังกัดจึงต้องร่วมรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๖ วรรคแรก
จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ๕๐,๐๐๐ บาท จำเลยจึงควรใช้ค่าขึ้นศาลแทนโจทก์เพียงเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีนั้นเห็นว่าความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดีนั้น เป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้น โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการต่อสู้คดีหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง สำหรับคดีนี้ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วยังไม่มีเหตุจะเปลี่ยนแปลงดุลพินิจของศาลชั้นต้นเป็นอย่างอื่น
พิพากษายืน

Share