คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1308/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าเมื่อท. ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้วท. เป็นตัวแทนของโจทก์ไปยื่นเรื่องราวขอแบ่งแยกออกโฉนดใหม่และจะได้โอนให้โจทก์ต่อไปแต่ท. ถึงแก่ความตายเสียก่อนจำเลยซึ่งเป็นบุตรของท. ได้เข้าสวมสิทธิในการขอออกโฉนดที่ดินพิพาทจนทางราชการออกโฉนดให้ในนามของจำเลยแต่จำเลยให้การเพียงว่าท. กับโจทก์จะตกลงกันเป็นตัวการตัวแทนเพื่อยื่นเรื่องราวขอให้ทางราชการแบ่งแยกที่ดินพิพาทหรือไม่จำเลยไม่ทราบไม่รับรองและไม่ปรากฏหลักฐานดังนี้จำเลยมิได้แสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่าจำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วนรวมทั้งเหตุการณ์แห่งการนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา177วรรคสองคำให้การของจำเลยดังกล่าวจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องนำสืบข้อเท็จจริงฟังได้ว่าท. ได้ขอออกโฉนดที่ดินส่วนที่ขายให้โจทก์ในนามท. แล้วจะโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ทั้งการที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าการซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์และท. ตกเป็นโมฆะเพราะทำการซื้อขายที่ดินโดยฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามโอนภายใน5ปีนั้นจำเลยก็มิได้ให้การต่อสู้ไว้ย่อมไม่เป็นประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งว่า การทำนิติกรรมโอนที่ดินโฉนดเลข 37954 ซึ่งจำเลยโอนในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของนายทิน ให้แก่จำเลยในฐานะส่วนตัวเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2534เป็นการฉ้อฉล ขอให้เพิกถอนแล้วโอนให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์อะไรกัน ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ และฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์มาโดยตลอดเกินกว่า1 ปี โดยเปิดเผย โดยสงบ โดยสุจริตในนามของจำเลยทั้งสองเองขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 37954 ตำบลขุนทะเล อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานีจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยคำขออื่นนอกจากนั้นให้ยก
จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า เมื่อปี 2500 นายทิน สมานวงศ์ บิดาจำเลยได้รับจัดสรรที่ดินจากกรมประชาสงเคราะห์กระทรวงมหาดไทย เนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ ต่อมาทางราชการได้ออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินดังกล่าวเป็นโฉนดเลขที่ 22079 ในนามนายทิน มีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 5 ปี หลังจากนั้นนายทินขอรังวัดแบ่งแยกในนามเดิมระหว่างดำเนินการนายทินถึงแก่ความตายจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายทินและขอเข้าสวมสิทธิในที่ดินดังกล่าว ทางราชการจึงได้ออกโฉนดที่ดินพิพาทเลขที่ 37954 ตำบลขุนทะเล อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานีจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้ในนามจำเลย ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายทิน ซึ่งจำเลยได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทนี้เป็นของจำเลยในฐานะส่วนตัวในภายหลัง ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่าจำเลยต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่ โจทก์บรรยายคำฟ้องไว้ชัดเจนว่า เมื่อนายทินขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้ว นายทินตัวแทนของโจทก์ได้ยื่นเรื่องราวขอแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 22079 ในส่วนของโจทก์เพื่อแบ่งแยกออกโฉนดใหม่และจะได้โอนให้แก่โจทก์ตามที่ตกลงกันไว้ แต่นายทินถึงแก่ความตายเสียก่อน จำเลยได้เข้าสวนสิทธิในการขอออกโฉนดที่ดินพิพาทจนทางราชการออกโฉนดให้ในนามของจำเลย จำเลยให้การในข้อนี้เพียงว่า นายทินกับโจทก์จะตกลงกันเป็นตัวการตัวแทนเพื่อยื่นเรื่องราวขอให้ทางราชการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 22079 ให้แก่โจทก์ จำเลยไม่ทราบ ไม่รับรอง ไม่ปรากฏหลักฐาน ดังนี้ จำเลยมิได้แสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่าจำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วนรวมทั้งเหตุแห่งการนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง คำให้การของจำเลยดังกล่าวจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องนำสืบ ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังตามที่โจทก์ฟ้องว่า นายทินได้ขอออกโฉนดที่ดินส่วนที่ขายให้โจทก์ในนามนายทินแล้วจะโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ทั้งการที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าการซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์และนายทินตกเป็นโมฆะนั้น จำเลยก็มิได้ให้การต่อสู้ไว้ ย่อมไม่เป็นประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share