คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1306/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีที่จะต้องห้ามตามป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 (ข) นั้น ต้องเป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องนำพยานเอกสารมาแสดงในกรณีเช่นว่านี้จะขอนำสืบเพื่อเพิ่มเติมตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารนั้นไม่ได้
แต่การขอสืบความจริงสำหรับกรณีอื่น เช่น ระหว่างตัวการกับตัวแทน ไม่เกี่ยวแก่การบังคับหรือไม่บังคับนิติกรรมนั้นอย่างไร แม้ข้อเท็จจริงจะต้องแตกต่างไปจากที่ปรากฎในหนังสือ ก็ย่อมนำสืบได้
โจทก์ขอสืบความจริงว่าโจทก์โอนที่ดินให้จำเลยไปจัดการแบ่งปันให้ทายาทตามเหตุผลในฟ้องเป็นเรื่องระหว่างตัวการกับตัวแทนซึ่งเป็นลักษณะส่วนหนึ่งแห่งกฎหมายนั้น เป็นการนำสืบในกรณีอีกส่วนหนึ่งต่างหาก โจทก์ย่อมนำสืบได้
(อ้างฎีกาที่ 838/2493)
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 12/2500)

ย่อยาว

เรื่อง เรียกทรัพย์คืน
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์โอนที่ดินให้จำเลยเพื่อให้จำเลยไปจัดการแบ่งปันให้ทายาทและแบ่งให้วัดดอนไก่ตีตามส่วนที่ระบุไว้ในพินัยกรรม แต่จำเลยไม่แบ่งส่วนให้ตามนั้น ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสามโอนชื่อเฉพาะส่วนที่ได้รับยกให้จากโจทก์ในที่ดินโฉนดรายพิพาทมาเป็นของโจทก์
จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์โอนที่ดินนั้นให้จำเลยเป็นสิทธิขาดเพราะจำเลยใช้หนี้แทนโจทก์
ก่อนดำเนินการพิจารณา จำเลยที่ ๒-๓ ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ โดยจำเลยที่ ๒-๓ โอนที่ดินตามส่วนและยอมให้เงินแก่โจทก์
โจทก์คงดำเนินคดีเฉพาะจำเลยที่ ๑ ต่อมา
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อกฎหมายโดยพิเคราะห์เอกสารสัญญาหมาย ล.๑ และสำเนาโฉนดหมาย ล.๔ ซึ่งจำเลยอ้างมาและโจทก์มิได้โต้แย้งเอกสารทั้งสองนี้ประการใด ในสัญญามีข้อความอยู่ชัดเจนว่า “ผู้ให้ยอมยกกรรมสิทธิ์ เฉพาะส่วนของตนซึ่งมีอยู่ในที่ดินแปลงซึ่งกล่าวไว้ข้างบนนั้น ให้แก่ผู้รับเป็นเด็ดขาดตั้งแต่วันทำสัญญานี้ไป” ไม่มีเงื่อนไขเป็นประการอื่นอีกเลย โจทก์จะนำพยานมาสืบประกอบว่าโจทก์ให้จำเลยเพื่อให้จำเลยกับพวกไปจัดการแบ่งปันให้กับบุคคลอื่น จึงเป็นการสืบเพิ่มเติมข้อความในสัญญาอันเป็นเอกสาร ต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา ๙๔ จึงไม่จำเป็นต้องยกข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอื่นขึ้นวินิจฉัยต่อไปพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะที่พิพาทกับจำเลยที่ ๑
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า กรณีที่จะต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา ๙๔ (ข) ต้องเป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องนำพยานเอกสารมาแสดง การที่ขอนำสืบเพื่อเพิ่มเติมตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลง แก้ไขนิติกรรมที่คู่กรณีได้ตกลงทำเป็นหนังสือกันขึ้นไว้นั้นโดยตรงก็ย่อมไม่ได้ แต่การขอสืบความจริงสำหรับกรณีอื่น เช่นระหว่างตัวการกับตัวแทนในคดีนี้ ไม่เกี่ยวแก่การบังคับหรือไม่บังคับนิติกรรมนั้นอย่างไร แม้ข้อเท็จจริงจะต้องแตกต่างไปจากที่ปรากฎในหนังสือ ก็ย่อมนำสืบได้ คดีนี้โจทก์ขอสืบความจริงว่า โจทก์โอนที่ดินให้จำเลยไปจัดการแบ่งปันให้ทายาทตามเหตุผลในฟ้องนั้นเป็นเรื่องระหว่างตัวแทนกับตัวการ ซึ่งเป็นลักษณะส่วนหนึ่งแห่งกฎหมายนั้นเพราะเป็นเรื่องนำสืบในกรณีอีกส่วนหนึ่งต่างหาก โจทก์ย่อมนำสืบได้ตามนัยฎีกา ที่ ๘๓๘/๒๔๙๓
จึงพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาฟังพยานไปตามประเด็นในสำนวนความ แล้วพิพากษาชี้ขาดไปตามรูปคดี

Share