แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การขอขยายระยะเวลาฎีกาเป็นการขอขยายระยะเวลาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 จะกระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและศาลมีคำสั่งหรือคู่ความมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่กรณีมีเหตุสุดวิสัย ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้จำเลยฟังเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2552 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2552 ซึ่งเป็นการยื่นคำร้องต่อศาลเมื่อสิ้นระยะเวลาฎีกาแล้ว ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาได้เฉพาะเมื่อมีเหตุสุดวิสัย ตามคำร้องดังกล่าวจำเลยอ้างเหตุว่าทนายจำเลยมิได้ร่วมรับฟังการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 และทางศาลแจ้งให้ทนายจำเลยทราบภายหลัง ประกอบกับทนายจำเลยต้องการเวลาในการจัดทำข้อมูลเพื่อให้แพทย์ประจำเรือนจำจังหวัดราชบุรีตรวจสอบว่าจำเลยเป็นอัมพฤกษ์ครึ่งตัวและเสื่อมสมรรถภาพทางเพศจริงหรือไม่ ข้ออ้างตามคำร้องของจำเลยไม่ใช่เหตุสุดวิสัยที่ทำให้จำเลยไม่อาจยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาภายในกำหนดฎีกาได้ คำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาของจำเลยจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติข้างต้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลาฎีกาถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2542 ตามคำร้องของจำเลยฉบับลงวันที่ 16 ตุลาคม 2552 จึงไม่ชอบ จำเลยไม่มีสิทธิยื่นฎีกาเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้จำเลยฟัง ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ดังนั้น การที่จำเลยยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2552 ซึ่งล่วงเลยกำหนดฎีกาดังกล่าวแล้วจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกามานั้นไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 4 ปี รวม 12 กระทง เป็นจำคุก 48 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ เห็นว่า การขอขยายระยะเวลาฎีกาเป็นการขอขยายระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 จะกระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและศาลมีคำสั่งหรือคู่ความมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่กรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้จำเลยฟังเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2552 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2552 ซึ่งเป็นการยื่นคำร้องต่อศาลเมื่อสิ้นระยะเวลาฎีกาแล้ว ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาได้เฉพาะเมื่อมีเหตุสุดวิสัย ตามคำร้องดังกล่าวจำเลยอ้างเหตุว่าทนายจำเลยมิได้เข้าร่วมรับฟังการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 และทางศษลแจ้งให้ทนายจำเลยทราบภายหลังประกอบกับทนายจำเลยต้องการเวลาในการจัดทำข้อมูลเพื่อให้แพทย์ประจำเรือนจำจังหวัดราชบุรีตรวจสอบว่าจำเลยเป็นอัมพฤกษ์ครึ่งตัวและเสื่อมสมรรถภาพทางเพศจริงหรือไม่ ข้ออ้างตามคำร้องของจำเลยไม่ใช่เหตุสุดวิสัยที่ทำให้จำเลยไม่อาจยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาภายในกำหนดระยะเวลาฎีกาได้ คำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาของจำเลยจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลาฎีกาถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2552 ตามคำร้องของจำเลยฉบับลงวันที่ 16 ตุลาคม 2552 จึงไม่ชอบ จำเลยไม่มีสิทธิยื่นฎีกาเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้จำเลยฟัง ปัญหานี้แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาแต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ดังนั้น การที่จำเลยยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2552 ซึ่งล่วงเลยกำหนดยื่นฎีกาดังกล่าวแล้ว จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกามานั้นไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลย”
พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาแก่จำเลยและยกฎีกาของจำเลย