คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1305/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยและ ย. บรรจุพระเครื่องพิพาทไว้ในเจดีย์บรรจุกระดูกของบรรพบุรุษซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณพระอุโบสถวัดโจทก์ เพื่อให้ลูกหลานเซ่นไหว้ เมื่อ ย. ตาย จำเลยก็ยังไปเคารพกราบไหว้ตามประเพณีขาวจีนตลอดมาไม่เคยสละละทิ้งดังนี้ พระเครื่องพิพาทซึ่งบรรจุไว้ในเจดีย์ดังกล่าวยังเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย โจทก์เจาะเจดีย์เอาพระเครื่องพิพาทไป จำเลยติดตามเอาคืนจากโจทก์ได้ ไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2531)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองพระเครื่อง คือพระฝักไม้ดำ จำนวน ๒๑๐ องค์ และพระผักไม้ขาว จำนวน ๕๘ องค์ ซึ่งเป็นพระประจำวัดโจทก์ เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๓ จำเลยที่๓ ที่ ๔ ได้ร่วมกันข่มขู่พระครูประภาสธรรมาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดโจทก์ให้ส่งมอบพระเครื่องจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ ๓ที่ ๔ เพื่อประโยชน์ร่วมกันระหว่างจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ได้ทวงถาม จำเลยทั้งสี่เพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่อาจนำพระเครื่องดังกล่าวซึ่งมีมูลค่าประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ออกจำหน่ายเป็นเหตุให้โจทก์ต้องขาดประโยชน์จากเงินจำนวนดังกล่าว ขอให้จำเลยทั้งสี่ส่งมอบพระเครื่องจำนวนดังกล่าวพร้อมค่าเสียหาย
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า พระเครื่องพิพาทเดิมเป็นของนายเหยี่ยนกับจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นสามีภรรยากันและเป็นบิดามารดาของจำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ได้นำไปบรรจุไว้ในเจดีย์ซึ่งสร้างไว้ในบริเวณพระอุโบสถวัดโจทก์เพื่อบูชาร่วมกับกระดูกนางจู แซ่ตั้ง หาได้อุทิศพระเครื่องให้แก่วัดโจทก์ไม่ นายเหยี่ยนกับจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๔ ได้ครอบครองอย่างเป็นเจ้าของตลอดมา พระครูประภาสธรรมมาภรณ์ได้ร่วมกับพวกลักลอบเจาะเจดีย์และลักพระเครื่องดังกล่าวจำเลยที่ ๑ ทราบเรื่องจึงไปขอดู เมื่อเห็นว่าเป็นของนายเหยี่ยนและจำเลยที่ ๒ จึงนำพระเครื่องดังกล่าวไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ และนำพระเครื่องไปเก็บไว้ที่ธนาคารด้วยความยินยอมของโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ส่งมอบพระเครื่องพิพาทคืนโจทก์พร้อมกับชดใช้ค่าเสียหาย
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกคำขอเรื่องค่าเสียหายนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่านายเหยี่ยน บิดาจำเลยที่ ๑ ได้บรรจุพระเครื่องพิพาทไว้ในเจดีย์บรรจุกระดูกนางจู แซ่ตั้ง เพื่อให้ลูกหลานเซ่นไหว้เมื่อนายเหยี่ยนตาย จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ก็ยังไปเคารพกราบไหว้เจดีย์บรรจุกระดูกนางจู ตามประเพณีชาวจีนตลอดมา ไม่เคยสละละทิ้ง ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า พระเครื่องพิพาทซึ่งบรรจุไว้ในเจดีย์บรรจุกระดูกของนางจู ยังเป็นของจำเลยทั้งสี่อยู่ จำเลยทั้งสี่หาได้สละสิทธิครอบครองพระเครื่องพิพาทให้วัดโจทก์ไม่ จำเลยทั้งสี่จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในพระเครื่องพิพาท และมีสิทธิติดตามเอาคืนจากโจทก์ ซึ่งไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ได้ การกระทำของจำเลยทั้งสี่ไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์.

Share