คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1304/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยต่างเป็นทายาทผู้รับมรดกตามพินัยกรรมในที่ดินนาสองแปลงกับที่ดินบ้านหนึ่งแปลงคนละส่วนเท่าๆ กัน และได้ครอบครองร่วมกันและแทนกัน การที่จำเลยเข้าไปไถนาทั้งสองแปลง และไม่ยอมให้โจทก์เข้าไปครอบครองที่ดินบ้าน โดยจำเลยอ้างว่า ที่พิพาททั้งสามแปลงเป็นของตนคนเดียว เห็นได้ว่าขัดต่อสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่พิพาทรวมกับจำเลยกรณีจึงเป็นละเมิดต่อโจทก์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1360 และมาตรา 420,421.(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1069/2509)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นางยวงมีที่ดินนาสองแปลง ที่ดินบ้านหนึ่งแปลง ได้ทำพินัยกรรมให้ได้แก่นายเรือนบิดา โจทก์ที่ 1 กับโจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 4 และจำเลยคนละเท่า ๆ กัน นางยวงตายมานานประมาณ 16 ปี ทายาทตกลงยังไม่แบ่งทรัพย์สินตามพินัยกรรม ให้ปกครองร่วมกันและแทนกัน นายเรือนตาย 7 ปีมาแล้ว โจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับมรดกแทนที่นายเรือน เมื่อเดือน 7 ปี 2514 โจทก์จำเลยตกลงแบ่งที่ดินเป็น 5 ส่วน ปักหลักเขตไว้แล้วตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องยังไม่ได้เข้าครอบครอง ต้นปี 2515 จำเลยเข้าไปไถนาทั้งสองแปลงและไม่ยอมให้โจทก์เข้าไปครอบครองที่ดินบ้านทำให้โจทก์ทำนาไม่ได้ ขาดรายได้ประมาณคนละ 6,000 บาท และขาดรายได้จากที่ดินบ้านคนละ 200 บาท ขอให้ศาลพิพากษาบังคับจำเลยแบ่งที่ดินทั้งสามแปลงแก่โจทก์คนละหนึ่งส่วนเท่า ๆ กันหากแบ่งที่ดินกันไม่ได้ให้เอาขายทอดตลาดแบ่งเงินกันตามส่วนและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายในปีที่ฟ้องและปีต่อไปปีละ 24,800 บาท จนกว่าจำเลยจะเลิกเกี่ยวข้องกับที่ดินตามฟ้อง

จำเลยให้การว่า นางยวงได้ยกทรัพย์สินตามฟ้องทั้งหมดให้แก่จำเลยคนเดียวตั้งแต่ก่อนนางยวงตาย จำเลยได้เข้าครอบครองทำกินเก็บผลประโยชน์อย่างเป็นเจ้าของตั้งแต่นางยวงตายจนถึงปัจจุบันเกินกว่าสิบปี และได้แจ้ง ส.ค.1ไว้เป็นหลักฐาน จำเลยไม่ได้ปกครองร่วมกันหรือแทนกันดังฟ้อง จำเลยไม่ทราบเรื่องนางยวงทำพินัยกรรม หากมีพินัยกรรมอยู่จริง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า ให้แบ่งที่ดินพิพาททั้งสามแปลงเป็นห้าส่วน ให้โจทก์ทั้งสี่และจำเลยได้รับคนละหนึ่งส่วน หากแบ่งกันไม่ได้ให้ขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกันตามส่วน คำขออื่นให้ยก

โจทก์จำเลยต่างอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์สำหรับปี 2515 เป็นต้นไปเป็นเงินปีละ 2,000 บาท จนกว่าจำเลยจะไม่เกี่ยวข้องกับที่พิพาท ซึ่งเป็นส่วนของโจทก์ทั้งสี่คน นอกจากที่แก้นี้แล้วให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า พินัยกรรมของนางยวงมีผลใช้บังคับได้โจทก์จำเลยได้ครอบครองที่พิพาทร่วมกันและแทนกัน

วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่จำเลยเข้าไปไถนาทั้งสองแปลงและไม่ยอมให้โจทก์เข้าไปครอบครองที่ดินบ้าน โดยจำเลยอ้างว่า ที่พิพาททั้งสามแปลงเป็นของตนคนเดียว เห็นได้ว่าขัดต่อสิทธิของโจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าของที่พิพาทรวมกับจำเลย กรณีจึงเป็นละเมิดต่อโจทก์ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1360 และมาตรา 420, 421เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 1069/2509 ระหว่าง นายโกย ศรีทรง โจทก์นายปุ่น เพ็ชรพูล จำเลย และเมื่อจำเลยไม่โต้แย้งจำนวนเงินค่าเสียหายในชั้นฎีกา ก็ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

พิพากษายืน

Share