คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1304/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกำหนดอัตราโทษเป็นมาตรฐาน โดยไม่คำนึงถึงพฤติการณ์ประกอบการกระทำผิดตามหลักวิชาธรรมศาสตร์ อาจก่อให้เกิดความอยุติธรรมได้ง่าย เมื่อศาลที่สูงกว่าไม่เห็นด้วยในดุลพินิจเช่นนั้น ศาลชั้นต้นชอบที่จะรับเป็นข้อควรคำนึงในการอำนวยความยุติธรรมต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2498 เวลากลางวันจำเลยในคดีนี้ได้บังอาจสมคบกับจำเลยในคดีแดงของศาลจังหวัดชัยนาทที่ 492/2498 เล่นการพนันกัดปลาอันเป็นการพนันตามบัญชี ข.หมายเลข 1 ท้ายพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 พนันเอาทรัพย์สินกันทั้งนี้โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานเหตุเกิดที่ตำบลเขาท่าพระอำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาทขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4, 5, 6, 10, 12, 15 พระราชบัญญัติการพนัน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2490 มาตรา 3

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลจังหวัดชัยนาททำการพิจารณาแล้ว เชื่อว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงดังฟ้อง พิพากษาให้ปรับจำเลย 600 บาท

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว ฟังว่าจำเลยได้กระทำผิดดังฟ้องจริง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยชอบแล้ว แต่จำนวนเงินค่าปรับนั้นมากไป ความผิดของจำเลยไม่ร้ายแรง ศาลอุทธรณ์เห็นสมควรให้ปรับจำเลยน้อยลง จึงพร้อมกันพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ปรับจำเลย 100 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยเท่าคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยโจทก์เห็นว่าเหมาะสมกับความผิดของจำเลยแล้ว เพราะได้วางโทษเท่ากับพวกจำเลยในคดีแดงที่ 492/2498 ที่ได้สมคบกับจำเลยในคดีนี้แต่ได้ลดฐานรับสารภาพคงลงโทษปรับเพียงคนละ 300 บาท ส่วนจำเลยในคดีนี้ไม่รับจึงลงโทษปรับ 600 บาท

ศาลจังหวัดชัยนาทสั่งในฎีกาของโจทก์ว่า “จำเลย 5 คน ในคดีแดงที่ 492/2498 ของศาลนี้ถูกศาลพิพากษาปรับคนละ 600 บาท ลดกึ่งปรับคนละ 300 บาท จริงดังโจทก์อ้างในฎีกา และเป็นการปรับตามอัตราโทษที่คณะผู้พิพากษาศาลนี้กำหนดไว้เป็นมาตรฐาน จึงเป็นปัญหาสำคัญที่ควรสู่ศาลฎีกาและอนุญาตให้ฎีกาได้ ฉะนั้น ศาลนี้จึงรับเป็นฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 สำเนาให้จำเลย”

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังมาได้ความว่า จำเลยได้เล่นการพนันกัดปลาโดยพนันกันเป็นจำนวนเงิน 10 บาท ศาลฎีกาจึงเห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำเลยโดยปรับ 100 บาท นั้นเป็นการสมควรแก่โทษานุโทษแล้ว การที่จะยึดถือเอาอัตรากำหนดที่คิดกันขึ้นแล้วอ้างว่าเป็นมาตรฐาน โดยไม่คำนึงถึงพฤติการณ์ประกอบการกระทำผิดตามหลักวิชาธรรมศาสตร์นั้น อาจก่อให้เกิดการอยุติธรรมได้ง่ายและเมื่อปรากฏว่าศาลที่สูงกว่าไม่เห็นด้วย ในดุลพินิจในการพิพากษาคดีเช่นเดียวกันนั้นแล้ว ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะรับเป็นข้อควรคำนึงในการที่จะอำนวยความยุติธรรมต่อไป คำพิพากษาที่ผิดพลาดไปแล้วเมื่อไม่มีการอุทธรณ์ขึ้นมาก็จำเป็นอยู่เองที่จะต้องเป็นยุติตามนั้น ฉะนั้น ที่โจทก์ฎีกาว่าจะต้องมีคดีขึ้นมาสู่ศาลอุทธรณ์เป็นการรกศาลอุทธรณ์ต่อไปอีกมากนั้นจึงไม่อาจจะเป็นได้ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้นให้ยกเสีย โดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share