แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2503 มาตรา 3 ให้ยกเลิกความใน 17 ของบทนิยามคำว่า “โรงงาน” ในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2482 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน ” 17 โรงงานอย่างอื่นที่จะได้กำหนดโดยกฎกระทรวง” นั้น หมายความว่า นับแต่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นต้นไป ถ้าทางการประสงค์จะควบคุมโรงงานประเภทใด นอกจากที่ได้มีพระราชกฤษฎีการะบุไว้ก่อนแล้ว ก็จะได้กำหนดโดยออกเป็นกฎกระทรวง ไม่ต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเหมือนอย่างเช่นเดิมเท่านั้น มิได้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาที่ระบุโรงงานอย่างอื่นเป็นโรงงานตามมาตรา 3(17) แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2482 ซึ่งได้ตราไว้แล้วแต่เดิมไม่ จำเลยตั้งและเปิดดำเนินการโรงงานโม่หรือป่นวัตถุโดยใช้เครื่องจักร (ทำลูกชิ้น) ซึ่งพระราชกฤษฎีกา(ฉบับที่ 3) พ.ศ.2500 มาตรา 3(6) ระบุว่าเป็นโรงงานตามมาตรา 3(17) แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2482 แม้จะเป็นการตั้งแลเปิดดำเนินการขึ้นภายหลังพระราชบัญญัติโรงงาน(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2503 ใช้บังคับแล้ว ก็ยังอยู่ในข่ายต้องถูกควบคุมนั่นเอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๐๖ ถึงวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๐๗ จำเลยได้ตั้งและเปิดดำเนินการโรงงานโม่ป่นวัตถุโดยใช้เครื่องจักร (ทำลูกชิ้น) ซึ่งเป็นโรงงานอย่างอื่นซึ่งได้ระบุไว้โดยพระราชกฤษฎีการะบุโรงงานอย่างอื่นเป็นโรงงานตามมาตรา ๓(๑๗) แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.๒๔๘๒ , (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๐๐ มาตรา ๓(๖) โดยมิได้รับอนุญาต
จำเลยให้การรับว่าได้ตั้งโรงงานแต่การกระทำของจำเลยไม่เป็นผิด
ศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยตั้งโรงงานโม่ป่นวัตถุโดยใช้เครื่องจักร ภายหลังที่พระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๐๓ มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีการะบุโรงงานอย่างอื่นที่เป็นโรงงานตามมาตรา ๓(๑๗) แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.๒๔๘๒, (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๐๐ และไม่มีกฎกระทรวงออกมาบังคับแทนโรงงานของจำเลยจึงไม่อยู่ในข่ายควบคุม พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.๒๔๘๒ มาตรา ๓,๖,๑๙ พระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๐๓ มาตรา ๗ พระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.๒๔๘๒ บังคับแก่โรงงานทุกชนิดในท้องที่จังหวัดพระนครและธนบุรี พ.ศ.๒๔๘๙ มาตรา ๓ พระราชกฤษฎีการะบุโรงงานอย่างอื่นเป็นโรงงานตามมาตรา ๓(๑๗) แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.๒๔๘๒ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๐๐ มาตรา ๓(๖) ลดโทษให้ ๑ ใน ๔ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๘ คงปรับ ๓,๐๐๐ บาท ให้จำเลยจัดการให้โรงงานหยุดทำงานตลอดเวลาที่ยังไม่ได้รับอนุญาตหรือหนังสืออนุญาต
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๐๓ มาตรา ๓ ซึ่งให้ยกเลิกความใน ๑๗ ของบทนิยามคำว่า “โรงงาน” ในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.๒๔๘๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน” ๑๗ โรงงานอย่างอื่นที่จะได้กำหนดโดยกฎกระทรวง” นั้นหมายความว่า นับแต่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นต้นไป ถ้าหากทางการประสงค์จะควบคุมโรงงานประเภทใด นอกจากที่ได้มีพระราชกฤษฎีการะบุไว้ก่อนแล้ว ก็จะได้กำหนดโดยออกเป็นกฎกระทรวงไม่ต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเหมือนเช่นเดิมเท่านั้น มิได้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาที่ระบุโรงงานอย่างอื่นเป็นโรงงานตามมาตรา ๓(๑๗) แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.๒๔๘๒ ซึ่งได้ตราไว้แล้วแต่เดิมไม่ ฉะนั้น บรรดาโรงงานต่าง ๆ ที่มีพระราชกฤษฎีการะบุว่า เป็นโรงงานอย่างอื่นตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.๒๔๘๒ มาตรา ๓(๑๗) คงอยู่ในข่ายต้องถูกควบคุมตามกฎหมายตามเดิมไม่ต้องออกกฎกระทรวงใหม่อีก จำเลยตั้งและเปิดดำเนินการโรงงานโม่หรือป่นวัตถุโดยใช้เครื่องจักร (ทำลูกชิ้น) ซึ่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๐๐ มาตรา ๓(๖) ระบุว่าเป็นโรงงานตามมาตรา ๓(๑๗) แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.๒๔๘๒ แม้จะเป็นการตั้งและเปิดดำเนินการขึ้นภายหลังจากที่พระราชบัญญัติโรงงาน
(ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๐๓ ใช้บังคับแล้ว ก็ยังอยู่ในข่ายต้องถูกควบคุมนั่นเอง เมื่อจำเลยตั้งและเปิดดำเนินการโดยมิได้รับอนุญาตตามกฎหมาย จึงต้องมีความผิดตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบแล้ว
พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลยเสีย