คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1295/2540

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทของจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านที่เห็นชอบด้วยกับมติที่ประชุมเจ้าหนี้เนื่องจากผู้คัดค้านมีคำสั่งให้ดำเนินการตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้ที่ลงมติยอมรับข้อเสนอของจำเลยอื่น ๆ ในคดีแพ่งซึ่งเป็นมติที่ไม่ชอบ คำร้องของผู้ร้องมีผลเป็นการขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมเจ้าหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 36 ซึ่งให้สิทธิแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้น ที่จะขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมเจ้าหนี้ ผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขอได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดและจำเลยถึงแก่กรรมระหว่างที่ผู้คัดค้านเรียกประชุมเจ้าหนี้ครั้งอื่น ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นทายาทของจำเลย เดิมในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งที่ 4 จำเลยในคดีแพ่งของศาลจังหวัดสระบุรีซึ่งจำเลยในคดีนี้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องไว้รวม 3 คดี ได้ยื่นคำขอประนีประนอมยอมความโดยเสนอคืนเงิน 403,000 บาท แก่กองทรัพย์สินของจำเลยคดีนี้ เจ้าหนี้รายที่ 1 ออกเสียงยอมรับข้อเสนอส่วนเจ้าหนี้รายที่ 2 ออกเสียงคัดค้าน ผู้คัดค้านถือว่าที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติยอมรับข้อเสนอของจำเลยในคดีแพ่งของศาลจังหวัดสระบุรี แต่มติดังกล่าวมีเงื่อนไขบังคับก่อน ไม่สามารถดำเนินการตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ ผู้คัดค้านจึงขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งห้ามมิให้ปฏิบัติการตามมตินั้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามที่ผู้คัดค้านร้องขอ ในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2538 จำเลยในคดีแพ่งของศาลจังหวัดสระบุรีได้ยื่นคำขอประนีประนอมยอมความโดยเสนอขอคืนเงิน 403,000 บาท เท่ากับจำนวนเดิม เจ้าหนี้รายที่ 1 ออกเสียงยอมรับข้อเสนอ เจ้าหนี้รายที่ 2 งดออกเสียง ผู้คัดค้านเห็นชอบด้วยกับมติดังกล่าวโดยไม่พิจารณารักษาผลประโยชน์ของกองทรัพย์สินของจำเลย ซึ่งศาลชั้นต้นเคยมีคำวินิจฉัยแล้วว่าผลประโยชน์จำนวนดังกล่าวน้อยเกินไปสำหรับกองทรัพย์สินของจำเลย ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งที่เห็นชอบด้วยกับมติที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งที่ 6 ของผู้คัดค้าน

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า อำนาจในการพิจารณาคำขอประนีประนอมยอมความเป็นอำนาจของที่ประชุมเจ้าหนี้ ผู้คัดค้านมีอำนาจเพียงพิจารณาว่ามติของที่ประชุมเจ้าหนี้ขัดต่อกฎหมายหรือประโยชน์อันร่วมกันของเจ้าหนี้ทั้งหลายหรือไม่ และมีอำนาจร้องขอต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งห้ามมิให้ปฏิบัติการตามมตินั้น ตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งที่ 6 เจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้มี 2 ราย เจ้าหนี้รายที่ 1 ยอมรับข้อเสนอของจำเลยในคดีแพ่งของศาลจังหวัดสระบุรี ส่วนเจ้าหนี้รายที่ 2 งดออกเสียง แสดงให้เห็นว่า การประนีประนอมยอมความดังกล่าวไม่ขัดต่อประโยชน์อันร่วมกันของเจ้าหนี้ทั้งหลาย เพราะเจ้าหนี้ทุกรายได้รักษาผลประโยชน์ของตนเองโดยได้เข้าร่วมประชุมและพิจารณาข้อเสนอดังกล่าวโดยชอบแล้วทั้งศาลจังหวัดสระบุรียังไม่ได้มีคำพิพากษาให้จำเลยคดีนี้ชนะคดี จึงไม่อาจคำนวณได้ว่าผลประโยชน์ดังกล่าวน้อยเกินไปหรือไม่ เพราะจำเลยคดีนี้อาจแพ้คดีดังกล่าวก็ได้ ข้ออ้างของผู้ร้องจึงไม่ควรแก่การรับฟัง ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าก่อนศาลจะมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด จำเลยได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดสระบุรี รวม 3 คดี ต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด ผู้คัดค้านได้เข้าดำเนินคดีดังกล่าวแทนจำเลย คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาจำเลยในคดีแพ่งทั้งสามคดีได้ยื่นคำขอประนีประนอมยอมความต่อผู้คัดค้านโดยเสนอขอคืนเงินให้กองทรัพย์สินของจำเลย ในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งที่ 4 ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติยอมรับข้อเสนอขอประนีประนอมยอมความของจำเลยในคดีแพ่งดังกล่าว ผู้คัดค้านเห็นว่า จำนวนเงินที่เสนอขอคืนน้อยเกินไป ประกอบกับเจ้าหนี้รายที่ 2 ออกเสียงคัดค้านจึงร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งมิให้ปฏิบัติการตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามคำร้องขอของผู้คัดค้าน ต่อมาในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งที่ 6 จำเลยในคดีแพ่งของศาลจังหวัดสระบุรียื่นคำขอประนีประนอมยอมความโดยเสนอขอคืนเงิน 403,000 บาท เท่ากับที่เคยเสนอครั้งก่อน เจ้าหนี้รายที่ 1 ออกเสียงยอมรับข้อเสนอส่วนเจ้าหนี้รายที่ 2 งดออกเสียง ผู้คัดค้านถือว่าที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติยอมรับข้อเสนอของจำเลยในคดีแพ่งทั้งสามคดีดังกล่าว และผู้คัดค้านมีคำสั่งให้ดำเนินการตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งที่ 6 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยเป็นประการแรกว่า ผู้ร้องมีอำนาจร้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของผู้คัดค้านหรือไม่ เห็นว่า เหตุที่ผู้ร้องยื่นคำร้องดังกล่าว เนื่องมาจากผู้คัดค้านมีคำสั่งให้ดำเนินการตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้ที่ลงมติยอมรับข้อเสนอของจำเลยอื่น ๆ ในคดีแพ่งคำร้องของผู้ร้องจึงมีผลเป็นการขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมเจ้าหนี้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 36 ซึ่งให้สิทธิแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้นที่จะขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมเจ้าหนี้ บุคคลอื่นไม่มีสิทธิร้องขอได้ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1288/2503 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องดังกล่าวได้ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้คัดค้านจะมิได้ยกขึ้นกล่าวอ้าง ศาลฎีกาก็สามารถหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 คดีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาประการอื่นต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาให้ยกคำร้องของผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”

พิพากษายืน

Share