แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 วรรคสองคำพิพากษาในคดีที่อาจอุทธรณ์ฎีกาได้จะถึงที่สุดต่อเมื่อระยะเวลาผ่านพ้นไปจนถึงวันครบกำหนดอายุอุทธรณ์หรือฎีกา สำหรับคดีที่อาจอุทธรณ์ได้จึงมีอายุอุทธรณ์ 1 เดือน นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 แต่เมื่อคดีดังกล่าวคู่ความมิได้อุทธรณ์ คดีจึงถึงที่สุดในกำหนด 1 เดือนนับแต่วันที่ศาลอ่านคำพิพากษาตามมาตรา 147 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 887/2537 ของศาลจังหวัดนครปฐม ศาลพิพากษายกฟ้องเนื่องจากโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลจังหวัดนครปฐม แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ฟ้องใหม่ภายใน 60 วัน นับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุดโจทก์จึงฟ้องคดีนี้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 344,402 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 310,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์สมคบกับบุคคลผู้มีชื่อนำเช็คพิพาทซึ่งไม่มีมูลหนี้มาฟ้องจำเลยที่ 1 โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1ต่อศาลจังหวัดนครปฐม และศาลจังหวัดนครปฐมพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2537 ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 887/2537โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2537จึงเป็นฟ้องซ้ำและขาดอายุความ เพราะยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 เกินกว่า1 ปี นับแต่วันที่ลงในเช็คพิพาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาท ลายมือชื่อดังกล่าวเป็นลายมือชื่อปลอม โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยที่ 2 ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่เช็คพิพาทถึงกำหนดชำระเงิน ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ แม้ศาลจังหวัดนครปฐมยกฟ้องเรื่องเขตอำนาจศาลและไม่ตัดสิทธิโจทก์ฟ้องใหม่ภายใน 60 วันก็ไม่ทำให้ขยายอายุความออกไป ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความให้คนละ 1,500 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสองต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมส่ง เมื่อมีคำพิพากษาใหม่
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ปรากฏว่าเมื่อสืบพยานโจทก์ได้ 1 ปาก คือตัวโจทก์ แล้วศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีพอวินิจฉัยได้ ให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยทั้งสอง แล้ววินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เคยนำเช็คพิพาทในคดีนี้ไปยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลจังหวัดนครปฐมศาลจังหวัดนครปฐมพิพากษายกฟ้องเนื่องจากโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลจังหวัดนครปฐม แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ภายใน 60 วัน นับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุดโดยพิพากษา เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2537 โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่30 กันยายน 2537
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะวันที่คำพิพากษาถึงที่สุดน่าจะเป็นวันที่ศาลได้มีคำพิพากษาคือวันที่ 28 กรกฎาคม 2537 ดังนั้นจึงครบกำหนด 60 วัน ในวันที่28 กันยายน 2537 โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 30 กันยายน 2537ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 วรรคสอง บัญญัติว่า “คำพิพากษาหรือคำสั่งใดซึ่งอาจอุทธรณ์ ฎีกาหรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้นั้น ถ้ามิได้อุทธรณ์ ฎีกาหรือร้องขอให้พิจารณาใหม่ภายในเวลาที่กำหนดไว้ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง ฯลฯแสดงให้เห็นว่า คำพิพากษาในคดีที่อาจอุทธรณ์ฎีกาได้จะถึงที่สุดต่อเมื่อระยะเวลาผ่านพ้นไปจนถึงวันครบกำหนดอายุอุทธรณ์หรือฎีกาสำหรับคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 887/2537 ของศาลจังหวัดนครปฐม ตามสำเนาคำพิพากษาเอกสารท้ายฟ้อง ปรากฏว่าเป็นคดีที่อาจอุทธรณ์ได้ และมีอายุอุทธรณ์ 1 เดือน นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229เมื่อคดีดังกล่าวคู่ความมิได้อุทธรณ์ คดีจึงถึงที่สุดในกำหนด1 เดือน เมื่อนับแต่วันที่ศาลจังหวัดนครปฐม อ่านคำพิพากษา คือวันที่ 28 กรกฎาคม 2537 ครบกำหนด 1 เดือน ในวันที่ 28 สิงหาคม2537 โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2537 เป็นเวลาเพียง 33 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด จึงยังอยู่ในระยะเวลา60 วัน ตามที่คำพิพากษาศาลจังหวัดนครปฐมให้สิทธิโจทก์ฟ้องใหม่ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์นำสืบรับว่านำคดีมาฟ้องเกิน 60 วัน นับแต่วันที่ศาลจังหวัดนครปฐมกำหนดไว้นั้น เห็นว่า คำเบิกความของผู้รับมอบอำนาจโจทก์เช่นนั้นเป็นเพียงความเข้าใจของผู้รับมอบอำนาจโจทก์ซึ่งไม่มีผลทำให้คดีที่ไม่ขาดอายุความกลายเป็นขาดอายุความไปได้ ที่จำเลยที่ 1ฎีกาว่า พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 1 ให้การไว้มีข้อความสนับสนุนเกี่ยวกับการคบคิดฉ้อฉลของโจทก์นั้นเห็นว่า ปัญหาข้อนี้สมควรรอฟังพยานหลักฐานโจทก์และจำเลยทั้งสองที่จะนำสืบต่อไปเสียก่อนศาลฎีกายังไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาล ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่