แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 ต้องสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนตามที่ระบุไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 2 (6) ประกอบด้วยมาตรา 18 เมื่อเหตุเกิดในเขตท้องที่สถานีตำรวจภูธรตำบลกลางใหญ่ จังหวัดอุดรธานี ร. พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลวังทองหลางจึงไม่มีอำนาจสอบสวน ทั้งถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำการแทนพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 128 บัญญัติไว้ การที่ ร. สอบสวนโจทก์ร่วมและ อ. จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตามเมื่อผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลวังทองหลาง ส่งสำนวนการสอบสวนไปให้รองผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรตำบลกลางใหญ่ พ. พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลกลางใหญ่ ได้สอบสวนโจทก์ร่วมและ อ. อีกครั้งหนึ่ง แม้ อ. จะให้การยืนยันตามคำให้การที่ให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลวังทองหลางทุกประการก็ตาม แต่ อ. ก็ได้ให้การเกี่ยวกับรายละเอียดการกระทำความผิดของจำเลยไว้ด้วย ถือได้ว่ามีการสอบสวนโจทก์ร่วมและ อ. โดยพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบแล้ว ส่วนที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลวังทองหลางได้สอบสวนโจทก์ร่วมเพิ่มเติมตามใบต่อคำให้การนั้น คงมีผลเพียงทำให้คำให้การดังกล่าวไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้เท่านั้น หาเป็นเหตุให้การสอบสวนเสียไปทั้งหมดไม่ เมื่อการสอบสวนของ พ. พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเป็นการสอบสวนชอบแล้ว การสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 18 และมาตรา 120 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 326
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 จำคุก 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า การสอบสวนคดีนี้ชอบด้วยกฎหมายและโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน” ซึ่งการสอบสวนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 120 ต้องสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (6) ประกอบด้วยมาตรา 18 เมื่อเหตุคดีนี้เกิดในเขตท้องที่สถานีตำรวจภูธรตำบลกลางใหญ่ จังหวัดอุดรธานี ร้อยตำรวจโทรัฐชัย พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลวังทองหลางจึงไม่มีอำนาจสอบสวน เพราะคดีเกิดนอกเขตอำนาจของตน และไม่มีเหตุอื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 วรรคสอง ที่จะทำให้ตนมีอำนาจสอบสวนได้ ทั้งถือไม่ได้ว่าเป็นการทำการแทนพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 128 บัญญัติไว้ การที่ร้อยตำรวจโทรัฐชัยสอบสวนโจทก์ร่วมและนางอัญชลี ตามบันทึกคำให้การ จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพันตำรวจเอกวิเลข ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลวังทองหลาง ส่งสำนวนการสอบสวนไปให้รองผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร ตำบลกลางใหญ่ ปรากฏว่าร้อยตำรวจเอกพรมมี พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลกลางใหญ่ได้สอบสวนโจทก์ร่วมและนางอัญชลีอีกครั้งหนึ่ง แม้การสอบสวนดังกล่าวนางอัญชลีจะให้การว่าขอยืนยันตามคำให้การที่ให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลวังทองหลางทุกประการก็ตาม แต่นางอัญชลีก็ได้ให้การเกี่ยวกับรายละเอียดการกระทำความผิดของจำเลยไว้ด้วย ถือได้ว่ามีการสอบสวนโจทก์ร่วมและนางอัญชลีโดยพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบแล้ว ส่วนที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลวังทองหลางได้สอบสวนโจทก์ร่วมเพิ่มเติมนั้น คงมีผลเพียงทำให้คำให้การดังกล่าวไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้เท่านั้น หาเป็นเหตุให้การสอบสวนเสียไปทั้งหมดไม่ เมื่อการสอบสวนของร้อยตำรวจเอกพรมมี พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเป็นการสอบสวนชอบด้วยกฎหมายแล้ว การสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 และมาตรา 120 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน