คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1287/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่บริษัท ป. ขนสินค้าจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มายังท่าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นท่าเรือปลายทางเป็นการรับขนของทางทะเล ป.พ.พ. มาตรา 609 วรรคท้ายบัญญัติว่า รับขนทางทะเลให้บังคับตามกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการนั้นแต่ปัจจุบันกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการรับขนของทางทะเลของประเทศไทยยังไม่มี ในเรื่องอายุความฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายของสินค้าหรือสิ่งของที่ขนส่งทางทะเลจึงต้องนำ ป.พ.พ.มาตรา 624 ซึ่งเป็นบทบัญญัติในบรรพ 3 ลักษณะ 8 หมวด 1 ว่าด้วยรับขนของ อันเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาปรับคดีตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสาม ซึ่งในข้อความรับผิดของผู้ขนส่งห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่วันส่งมอบของ เมื่อปรากฏว่าผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับตราส่งรับสินค้าไปเมื่อ พ.ศ. 2524 โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกันภัยรับช่วงสิทธิเรียกร้องมาจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับตราส่งมาฟ้องเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2526 คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อต้นปี พ.ศ. 2524 บริษัทไทยอเมริกันเท็กซ์ไทล์ จำกัดได้สั่งซื้อฝ้ายจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์จำนวน 294 มัด ผู้ขายจ้างให้บริษัทปาซิฟิคอินเตอร์เนชั่นแนลไลน์(พีทีอี.) จำกัด ขนส่งสินค้าตามใบตราส่งมายังผู้ซื้อในประเทศไทยโดยเรือชื่อ “โกตา บัวนา” ครั้นสินค้าบรรทุกเรือมาถึงประเทศสิงค์โปร์ได้ถ่ายลงเรืออีกลำหนึ่งชื่อ “โกตา กาจา” แล้วเรือลำนี้ได้นำสินค้ามาเทียบท่าเรือกรุงเทพ ผู้ขายได้เอาประกันภัยสินค้ารายนี้ไว้กับบริษัทแอสซูปาร์ เอ็น.วี. จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์และกลุ่มบริษัทของโจทก์ เรือบรรทุกสินค้าได้มาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2524 และขนถ่ายสินค้าขึ้นท่าเรือในวันที่ 5เดือนเดียวกัน ขณะที่ขนถ่ายสินค้าได้เกิดเพลิงไหม้เป็นเหตุให้เรือ”โกตา กาจา” ซึ่งบรรทุกสินค้าจมลง ปรากฏว่าสินค้าฝ้ายยังไม่ได้ขนลงจำนวน 106 มัด ได้รับความเสียหายเนื่องจากไฟไหม้และจมน้ำบริษัทไทยอเมริกันเท็กซ์ไทล์ จำกัด ได้ทวงถามโจทก์ผ่านบริษัทบอร์เนียว (ประเทศไทย) จำกัด โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทรับประกันภัยได้ใช้ค่าเสียหายจำนวน 1,302,185.60 บาท ให้บริษัทดังกล่าวแล้ว และบริษัทดังกล่าวได้ทำหนังสือมอบให้โจทก์เป็นผู้รับช่วงสิทธิในค่าเสียหายดังกล่าว จำเลยเป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้ายต่อจากบริษัทปาซิฟิคอินเตอร์เนชั่นแนลไลน์ (พีทีอี.) จำกัด จึงต้องรับผิดในความเสียหายดังกล่าว ขอให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,399,849.52 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินจำนวน 1,302,185.60บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า บริษัทปาซิฟิคอินเตอร์เนชั่นแนลไลน์ (พีทีอี.)จำกัด ไม่เคยแต่งตั้งมอบหมายให้จำเลยเป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้ายเพียงแต่แต่งตั้งให้จำเลยเป็นตัวแทนในประเทศไทยเท่านั้นและเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุสุดวิสัย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดทั้งคดีของโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,399,849 บาท52 สตางค์ แก่โจทก์ กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงิน1,302,185 บาท 60 สตางค์ นับแต่วันฟ้อง(วันที่ 23 พฤศจิกายน 2526)เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยชำระเงินให้โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อต้นปี พ.ศ. 2524 บริษัทไทยอเมริกันเท็กซ์ไทล์ จำกัด ได้สั่งซื้อฝ้ายจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จำนวน 294 มัด ผู้ขายจ้างให้บริษัทปาซิฟิคอินเตอร์เนชั่นแนลไลน์ (พีทีอี.) จำกัด ขนส่งสินค้ามายังผู้ซื้อในประเทศไทยโดยเรือชื่อ “โกตา บัวนา” ปรากฏตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.5 ครั้นสินค้าบรรทุกเรือมาถึงประเทศสิงคโปร์ได้ถ่ายลงเรืออีกลำหนึ่งชื่อ “โกตา กาจา” แล้วเรือลำนี้ได้นำสินค้ามาเทียบท่าเรือกรุงเทพ ในการส่งสินค้านี้ผู้ขายได้เอาประกันภัยสินค้ารายนี้ไว้กับบริษัทแอสซูปาร์ เอ็น.วี. จำกัดซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์และกลุ่มบริษัทของโจทก์ เรือบรรทุกสินค้าได้มาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2524 และขนถ่ายสินค้าขึ้นท่าเรือในวันที่ 5 เดือนเดียวกัน ขณะที่ขนถ่ายสินค้าได้เกิดเพลิงไหม้เป็นเหตุให้เรือ “โกตา กาจา” ซึ่งบรรทุกสินค้าจมลงปรากฏว่าสินค้าฝ้ายยังไม่ได้ขนลงจำนวน 106 มัด ได้รับความเสียหายเนื่องจากไฟไหม้ และจมน้ำ บริษัทไทยอเมริกันเท็กซ์ไทล์ จำกัดได้ทวงถามโจทก์ผ่านบริษัทบอร์เนียว (ประเทศไทย) จำกัด โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทรับประกันภัยได้ใช้ค่าเสียหายจำนวน 1,302,185.60 บาทให้บริษัทดังกล่าวแล้ว และบริษัทดังกล่าวได้ทำหนังสือมอบให้โจทก์เป็นผู้รับช่วงสิทธิในค่าเสียหายดังกล่าว โจทก์จึงฟ้องจำเลยให้รับผิดในฐานะเป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้ายต่อจากบริษัทปาซิฟิคอินเตอร์เนชั่นแนลไลน์ (พีทีอี.) จำกัด เมื่อวันที่ 23พฤศจิกายน 2526 จำเลยฎีกาเป็นปัญหาหลายประการและฎีกาว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความรับขนของทางทะเลแล้ว เห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในปัญหาอายุความเสียก่อน การที่บริษัทปาซิฟิคอินเตอร์เนชั่นแนลไลน์(พีทีอี.) จำกัด ขนสินค้าจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์มายังท่าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นท่าเรือปลายทาง เป็นการรับขนของทางทะเล ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 609 วรรคท้ายบัญญัติว่า “รับขนของทางทะเล ท่านให้บังคับตามกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการนั้น” ปัจจุบันกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการรับขนของทางทะเลของประเทศไทยยังไม่มี ศาลฎีกาเห็นว่า ในเรื่องอายุความฟ้องร้องเรียกค่สสินไหมทดแทนเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายของสินค้าหรือสิ่งของที่ขนส่งทางทะเล ต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 624 ซึ่งเป็นบทบัญญัติในบรรพ 3 ลักษณะ 8 หมวด 1 ว่าด้วยรับขนของ อันเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาปรับคดีตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรคสาม มาตรา 624บัญญัติว่า “ในข้อความรับผิดของผู้ขนส่งในการที่ของสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งชักช้านั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่วันส่งมอบ หรือปีหนึ่งนับแต่วันที่ควรจะได้ส่งมอบ เว้นแต่ในกรณีที่มีการทุจริต” ปรากฏว่า ผู้ซื้อสินค้าตามฟ้องหรือผู้รับตราส่งรับสินค้าไปเมื่อพุทธศักราช 2524 โจทก์รับช่วงสิทธิเรียกร้องมาจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับตราส่งมาฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความสูญหายและบุบสลายของสินค้าตามฟ้อง เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน2526 คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามมาตรา 624 เมื่อคดีของโจทก์ขาดอายุความซึ่งจะต้องพิพากษายกฟ้องแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยฎีกาของจำเลยในปัญหาอื่น”
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

Share