คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1285/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 เป็นการใช้สิทธิยื่นคำร้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ มิใช่เป็นคดีที่ผู้เสียหายฟ้องเองโดยตรง จึงต้องถือว่าคำพิพากษาในส่วนที่ผู้เสียหายเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นส่วนหนึ่งแห่งคำพิพากษาในคดีส่วนอาญา ทั้งการพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ดังนั้น สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนในคดีส่วนแพ่งดังกล่าวต้องถือคดีส่วนอาญาเป็นหลัก หากคดีส่วนอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา คดีส่วนแพ่งก็ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกา ฉะนั้นการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาในคดีส่วนแพ่งจึงเป็นการไม่ชอบ จึงให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวเสียและมีคำสั่งใหม่เป็นรับฎีกาในคดีส่วนแพ่งของจำเลยที่ว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากผู้ร้องไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยไว้พิจารณาและเมื่อสำนวนขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนลงไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ผู้ร้องแก้ฎีกาก่อน โดยเห็นว่าการพิจารณาว่าผู้ใดจะมีสิทธิยื่นคำร้องต้องพิจารณาจากสิทธิในทางแพ่ง ไม่ใช่กรณีที่จะนำความหมายของคำว่า ผู้เสียหายในคดีอาญา เช่น เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยมาบังคับใช้ และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้เสียหายที่ 1 ใช้ไม้ตีจำเลยบริเวณท้ายทอยแล้วผู้ร้องเข้าไปช่วยเหลือผู้เสียหายที่ 1 โดยเข้าห้ามมิให้จำเลยใช้มีดฟันแทงผู้เสียหายที่ 1 ขณะผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหายที่ 2 เข้าแย่งและปัดมีดจากมือจำเลย ทำให้มีดพลาดแทงถูกบริเวณท้องด้านซ้ายของผู้ร้อง มีดปักคาอยู่ พฤติการณ์แห่งคดีถือไม่ได้ว่าผู้ร้องมีส่วนร่วมกับผู้เสียหายที่ 1 ข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมแก่จำเลยด้วยการใช้ไม้ตีจำเลยที่บริเวณท้ายทอย ผู้ร้องจึงเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย ผู้ร้องจึงมีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้ เมื่อผู้ร้องได้มีส่วนทำความผิดก่อให้เกิดความเสียหายด้วย การกำหนดจำนวนค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้องต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณว่าฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371, 33, 80, 91 และริบอาวุธมีดของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางสาวจารึกผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 147,661 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 288 ประกอบมาตรา 72, 80, 371 (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นและฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าผู้อื่นซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 10 ปี ฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยเปิดเผยหรือโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 100 บาท รวมจำคุก 10 ปี และปรับ 100 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ สาเหตุที่จำเลยกระทำความผิดในครั้งนี้ เกิดจากผู้เสียหายที่ 1 มีส่วนผิดที่ใช้ไม้ตีศีรษะของจำเลยก่อน จึงเห็นควรลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 5 ปี และปรับ 50 บาท ริบอาวุธมีดของกลาง หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และให้จำเลยชำระเงินแก่ผู้ร้องจำนวน 147,661 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 กันยายน 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ประกอบมาตรา 72 และมาตรา 297 (8) ประกอบมาตรา 60, 72 มาตรา 371 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยบันดาลโทสะและฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัสโดยพลาดและโดยบันดาลโทสะ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัสโดยพลาดและโดยบันดาลโทสะซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุก 2 ปี เมื่อรวมกับโทษฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยเปิดเผยหรือโดยไม่มีเหตุสมควรแล้ว ให้จำคุก 2 ปี และปรับ 50 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาโดยโจทก์และจำเลยมิได้ฎีกาโต้เถียงเป็นอย่างอื่นรับฟังได้เป็นยุติว่า เหตุคดีนี้มีมูลเหตุสืบเนื่องมาจากในวันเกิดเหตุ จำเลยถูกนายสรศักดิ์ ผู้เสียหายที่ 1 ใช้ไม้ตีท้ายทอยก่อน ถือได้ว่าจำเลยถูกผู้เสียหายที่ 1 ข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงใช้อาวุธมีดของกลางฟันแทงผู้เสียหายที่ 1 ในขณะนั้น แล้วพลาดไปถูกนางสาวจารึก ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ร้อง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายโดยบันดาลโทสะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ประกอบมาตรา 72 และทำร้ายร่างกายผู้ร้องจนเป็นเหตุให้ผู้ร้องได้รับอันตรายสาหัสป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน หรือจนประกอบกรณีกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน โดยพลาดและโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8) ประกอบมาตรา 60 และมาตรา 72
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า มีเหตุสมควรพิพากษาลงโทษจำเลยให้เบาลงและรอการลงโทษให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ตามบัญชีของกลางคดีอาญาระบุว่า อาวุธมีดที่จำเลยใช้ฟันและแทงผู้เสียหายที่ 1 กับผู้ร้อง เป็นอาวุธมีดทำกับข้าวทำด้วยสแตนเลส ด้ามพลาสติกดำ ยาวประมาณ 12 นิ้ว (รวมทั้งด้าม) ซึ่งเป็นมีดขนาดใหญ่ ผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ระบุว่า ผู้เสียหายที่ 1 ถูกทำร้าย ใช้มีดปอกผลไม้แทงที่ขาซ้ายตอนบนด้านหลัง บาดแผลผิวหนังฉีกขาดขอบเรียบที่ต้นขาซ้ายด้านหลัง ยาว 13 เซนติเมตร เย็บแผลแล้ว แพทย์ลงความเห็นว่าผู้เสียหายที่ 1 มีอาการเจ็บบาดแผลเดินไม่สะดวก รักษาตัวตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2557 ถึงวันที่ 13 เดือนเดียวกัน (5 วัน) ตัดไหมวันที่ 18 เดือนเดียวกัน ส่วนผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ร้อง มีบาดแผลถูกแทงบริเวณท้องด้านซ้าย ยาว 4 เซนติเมตร ร่วมกับลำไส้เล็กฉีกขาด ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดเปิดช่องท้อง ตัดลำไส้เล็กที่ฉีกขาดออกมา และเย็บต่อลำไส้เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2557 และรักษาโดยการให้เลือดเมื่อวันที่ 11 เดือนเดียวกัน และแพทย์ลงความเห็นว่าใช้เวลารักษาประมาณ 1 เดือน ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน หากมารับการรักษาไม่ทันท่วงที อาจทำให้เสียชีวิตได้ ตามพฤติการณ์แห่งคดีที่จำเลยใช้อาวุธมีดขนาดใหญ่ฟันและแทงผู้เสียหายที่ 1 กับผู้ร้องจนมีบาดแผลฉกรรจ์อาจถึงแก่ชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาพยาบาลทันท่วงทีเช่นนี้ นับว่าเป็นการกระทำรุนแรงใกล้เคียงว่าจะมีเจตนาฆ่าดังคำพิพากษาศาลชั้นต้น การที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยมีเจตนาทำร้ายและลงโทษจำเลยในบทหนักฐานทำร้ายร่างกายผู้ร้องเป็นเหตุให้ผู้ร้องได้รับอันตรายสาหัสโดยพลาดและโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8) ประกอบมาตรา 60, 72 และจำคุกจำเลยในข้อหาความผิดนี้เพียง 2 ปี นับว่าเป็นการลงโทษจำเลยในสถานเบาเป็นคุณแก่จำเลยมากแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะลงโทษจำเลยเบากว่านี้อีกได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษให้แก่จำเลยนั้น ได้ความจากที่จำเลยฎีกากล่าวอ้างว่า จำเลยสำนึกผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้นแล้ว ด้วยการวางเงินต่อศาลเพื่อบรรเทาผลร้ายแก่ผู้เสียหายที่ 1 เป็นเงิน 5,000 บาท และผู้เสียหายที่ 2 คือผู้ร้อง เป็นเงิน 50,000 บาท รวมเป็นเงิน 55,000 บาท โดยโจทก์และผู้ร้องมิได้แก้ฎีกาโต้เถียงเป็นอย่างอื่น อีกทั้งผู้ร้องก็ได้มาขอรับเงินที่จำเลยวางศาลไว้จำนวน 50,000 บาท ไปจากศาลชั้นต้นแล้วด้วย แม้จำนวนเงิน 50,000 บาท ที่ผู้ร้องรับไปจากศาลชั้นต้นยังไม่คุ้มจำนวนเงินที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยต้องรับผิดชดใช้ให้แก่ผู้ร้องจำนวน 147,661 บาท ก็ตาม แต่ก็เกินค่ารักษาพยาบาลที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยรับผิดต่อผู้ร้องเพียง 44,421 บาท นับว่าจำเลยได้สำนึกผิด ลุแก่โทษ และพยายามบรรเทาผลร้ายให้แก่ผู้ร้องและผู้เสียหายที่ 1 อันเป็นเหตุอันควรปรานี เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องรับโทษจำคุกมาก่อน และในประการสำคัญคือจำเลยกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ เพราะถูกผู้เสียหายที่ 1 ใช้ไม้ตีทำร้ายก่อน อันเป็นการข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมพฤติการณ์แห่งคดีจึงมีเหตุอันควรปรานี เห็นควรให้โอกาสจำเลยได้กลับตัวเป็นคนดี โดยรอการลงโทษและคุมความประพฤติจำเลยไว้เพื่อให้พนักงานคุมประพฤติได้แก้ไขฟื้นฟูความประพฤติของจำเลยภายในกำหนดระยะเวลาที่ศาลรอการลงโทษไว้ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาในคดีส่วนแพ่งนั้น เห็นว่า การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 เป็นการใช้สิทธิยื่นคำร้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ มิใช่เป็นคดีที่ผู้เสียหายฟ้องเองโดยตรง จึงต้องถือว่าคำพิพากษาในส่วนที่ผู้เสียหายเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นส่วนหนึ่งแห่งคำพิพากษาในคดีส่วนอาญาทั้งการพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ดังนั้น สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนในคดีส่วนแพ่งดังกล่าวต้องถือคดีส่วนอาญาเป็นหลัก หากคดีส่วนอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา คดีส่วนแพ่งก็ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกา ฉะนั้นการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาในคดีส่วนแพ่งจึงเป็นการไม่ชอบ จึงให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวเสียและมีคำสั่งใหม่เป็นรับฎีกาในคดีส่วนแพ่งของจำเลยที่ว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากผู้ร้องไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยไว้พิจารณาและเมื่อสำนวนขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนลงไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ผู้ร้องแก้ฎีกาก่อน โดยเห็นว่าการพิจารณาว่าผู้ใดจะมีสิทธิยื่นคำร้องต้องพิจารณาจากสิทธิในทางแพ่ง ไม่ใช่กรณีที่จะนำความหมายของคำว่า ผู้เสียหายในคดีอาญา เช่น เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยมาบังคับใช้ และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้เสียหายที่ 1 ใช้ไม้ตีจำเลยบริเวณท้ายทอยแล้วผู้ร้องเข้าไปช่วยเหลือผู้เสียหายที่ 1 โดยเข้าห้ามมิให้จำเลยใช้มีดฟันแทงผู้เสียหายที่ 1 ขณะผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหายที่ 2 เข้าแย่งและปัดมีดจากมือจำเลย ทำให้มีดพลาดแทงถูกบริเวณท้องด้านซ้ายของผู้ร้อง มีดปักคาอยู่ พฤติการณ์แห่งคดีถือไม่ได้ว่าผู้ร้องมีส่วนร่วมกับผู้เสียหายที่ 1 ข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมแก่จำเลยด้วยการใช้ไม้ตีจำเลยที่บริเวณท้ายทอย ผู้ร้องจึงเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย ผู้ร้องจึงมีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้ และเห็นว่าเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองเกี่ยวกับการกำหนดจำนวนค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้อง ซึ่งเมื่อศาลฎีกาได้พิเคราะห์ถึงการที่ฝ่ายผู้ร้องได้มีส่วนทำความผิดก่อให้เกิดความเสียหายด้วย โดยอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณว่าฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 วรรคหนึ่ง แล้ว เห็นว่าจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยชดใช้แก่ผู้ร้องเป็นเงิน 147,661 บาทเหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี โดยกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติจำเลยไว้ ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 6 เดือน ตลอดระยะเวลาที่ศาลรอการลงโทษจำเลยไว้ และให้จำเลยละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำผิดในทำนองเดียวกันอีก กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนดจำนวน 30 ชั่วโมง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share