คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1283/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1561 ซึ่งให้ใช้บังคับโดยพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 นั้น เป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่บุตร กล่าวคือให้บุตร มีสิทธิใช้ชื่อสกุลของบิดาและในกรณีที่ไม่ปรากฏว่าใคร เป็นบิดา บุตรมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของมารดาได้ มิได้ บังคับว่าบุตรจะต้องใช้ชื่อสกุลของบิดาหรือมารดาเมื่อกฎหมายมิได้บังคับไว้ บุตรก็ชอบที่จะใช้ชื่อสกุลอื่นได้ แม้จะปรากฏว่ามีบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ ก็ตาม การที่ ศ. ผู้เป็นบิดาและโจทก์ผู้เป็นมารดายินยอมพร้อมใจกันให้บุตรใช้ชื่อสกุลของมารดา หาเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1561 วรรค 2 ไม่
เมื่อคู่ความทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจสืบพยาน สละประเด็นข้อ อื่นทั้งสิ้น ขอให้ศาลวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้วพ.ศ.2519 มาตรา 1561 บุตรจะใช้ชื่อสกุลของมารดาได้หรือไม่ เมื่อบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายยินยอมให้ใช้ชื่อสกุลของมารดา เช่นนี้ จึงไม่มีปัญหาข้อเท็จจริงที่ว่าบุตรไม่ต้องการใช้ชื่อสกุลของบิดาหรือต้องการใช้ชื่อสกุลของมารดาหรือไม่ อันจะนำไปสู่การ วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ ไม่ชอบที่ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยและอ้างเป็นเหตุยกฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลและเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหัวหน้าที่ว่าการเขตพระโขนง โจทก์ได้จดทะเบียนสมรสโดยชอบด้วยกฎหมายกับนายศุภโยกต์มาลิกหรือมาลิค มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ เด็กหญิงนภาเพ็ญ กับเด็กหญิงศศิภา ต่อมาเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2518 โจทก์และนายศุภโยกต์ได้ตกลงหย่ากันโดยความสมัครใจโดยโจทก์เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูและใช้อำนาจปกครองบุตรทั้งสอง ต่อมาโจทก์และนายศุภโยกต์ได้ตกลงกันเปลี่ยนชื่อสกุลบุตรทั้งสองโดยเปลี่ยนจากมาลิกหรือมาลิคเป็น กฤษดากร ณ อยุธยาตามชื่อสกุลโจทก์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2520 โจทก์และนายศุภโยกต์ได้ร่วมกันยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 2 ขอแก้ไขรายการในทะเบียนบ้านโดยขอเปลี่ยนชื่อสกุลจากมาลิกหรือมาลิคเป็นกฤษดากร ณ อยุธยาจำเลยที่ 2 ไม่ยอมจัดการดำเนินการให้โดยอ้างว่าเป็นกรณีต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1561 วรรคสอง ไม่อาจเปลี่ยนชื่อสกุลบุตรทั้งสองให้ได้ โจทก์และนายศุภโยกต์ชี้แจงแล้วจำเลยที่ 2 ก็ไม่ยอมจัดการแก้ไขให้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันและแทนกันจดทะเบียนแก้ไขรายการในทะเบียนบ้านรายการในช่องชื่อสกุลจากเด็กหญิงนภาเพ็ญ มาลิกหรือมาลิค และเด็กหญิงศศิภา มาลิกหรือมาลิค เป็นเด็กหญิงนภาเพ็ญ กฤดากรณ อยุธยา และเด็กหญิงศศิภา กฤดากร ณ อยุธยา หากจำเลยทั้งสองไม่ยอมจัดการให้ ให้ศาลมีคำสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงนภาเพ็ญ และเด็กหญิงศศิภา ไม่มีอำนาจฟ้อง ภายหลังการจดทะเบียนหย่าขาดจากกัน โจทก์และนายศุภโยกต์มิได้ตกลงกันให้โจทก์เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูและใช้อำนาจปกครองเด็กหญิงทั้งสอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เปลี่ยนชื่อสกุลของเด็กหญิงทั้งสองนั้นและไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 2 ไม่ยอมเปลี่ยนชื่อสกุลเพราะเห็นว่าไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1561 วรรคสอง การวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ชอบด้วยเหตุผลทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

ต่อมาทนายจำเลยทั้งสองแถลงรับว่า โจทก์ได้จดทะเบียนหย่ากับนายศุภโยกต์ และได้ทำหนังสือตกลงให้โจทก์เป็นผู้อุปการะและใช้อำนาจปกครองเด็กหญิงนภาเพ็ญและเด็กหญิงศศิภาจริง มีอำนาจฟ้อง และทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจสืบพยานสละประเด็นข้อนี้ทั้งสิ้น ขอให้ศาลวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว พ.ศ. 2519 มาตรา 1561 บุตรจะใช้นามสกุล (น่าจะเป็นชื่อสกุล) ของมารดาได้หรือไม่ เมื่อบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายยินยอมให้ใช้นามสกุลของมารดา

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันและแทนกันแก้ทะเบียนบ้านในรายการชื่อสกุลของเด็กหญิงนภาเพ็ญและเด็กหญิงศศิภา จากมาลิกหรือมาลิค เป็นกฤดากร ณ อยุธยา ตามที่โจทก์ยื่นคำร้องไว้

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 มาตรา 1561 ซึ่งให้ใช้บังคับโดยพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ. 2519 มีความว่า “บุตรมีสิทธิ – ใช้ชื่อสกุลของบิดา” (วรรคหนึ่ง) “ในกรณีที่บิดาไม่ปรากฏ บุตรมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของมารดา” (วรรคสอง)เห็นได้ว่ามาตรานี้เป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่บุตร กล่าวคือให้บุตรมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของบิดา และในกรณีที่ไม่ปรากฏว่าใครเป็นบิดาบุตรมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของมารดาได้ มิได้บังคับว่าบุตรจะต้องใช้ชื่อสกุลของบิดาหรือมารดา เมื่อกฎหมายมิได้บังคับไว้ บุตรก็ชอบที่จะใช้ชื่อสกุลอื่นได้แม้จะปรากฏว่ามีบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก็ตาม การที่นายศุภโยกต์ผู้เป็นบิดาและโจทก์ผู้เป็นมารดายินยอมพร้อมใจกันให้บุตรทั้งสองใช้ชื่อสกุลของมารดา หากเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1561 วรรคสองไม่

ข้อต่อมาจำเลยฎีกาว่า ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าบุตรมีความประสงค์จะไม่ใช้นามสกุลของบิดาหรือต้องการใช้นามสกุลของมารดา โจทก์กระทำไปโดยไม่มีอำนาจ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ข้อที่จำเลยยกขึ้นฎีกานี้ จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้ ศาลชั้นต้นยกขึ้นวินิจฉัยโดยเห็นว่าเป็นปัญหาเรื่องอำนาจอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งศาลอุทธรณ์เห็นว่าไม่สมควรที่ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัย จำเลยจึงได้ฎีกาขึ้นมา

ศาลฎีกาเห็นว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจสืบพยาน สละประเด็นข้ออื่นทั้งสิ้นขอให้ศาลวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่มีปัญหาข้อเท็จจริงที่ว่าบุตรทั้งสองไม่ต้องการใช้ชื่อสกุลของบิดาหรือต้องการใช้ชื่อสกุลของมารดาหรือไม่ อันจะนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้อง ไม่ชอบที่ศาลชั้นต้นจะยกขึ้นวินิจฉัยและอ้างเป็นเหตุยกฟ้อง

พิพากษายืน

Share